ประเด็นร้อน

9แนวทางสกัดการเมืองก้าวก่าย'20รัฐวิสาหกิจ'

โดย ACT โพสเมื่อ Jul 19,2017

 - - สำนักข่าว ไทยโพสต์ วันที่ 19/07/60 - -


ทำเนียบฯ * ครม.ไฟเขียวกรอบแนวทางแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจใหม่ ขีดเส้นใต้ 9 ข้อห้ามข้าราชการการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั่งเป็น "บอร์ด" สั่งบังคับใช้ทันที 20 รัฐวิสาหกิจ หลังมีรายชื่อ บอร์ดจะครบวาระในเดือน ก.ค.2560 พร้อมไฟเขียว "ฉัตรชัย" ปลัดมหาดไทย "นันทวัลย์" หญิงคนที่ 5 ผงาดปลัดพาณิชย์

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมน ตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ครม.เห็นชอบแนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การสรรหาและแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเพื่อทำหน้าที่กำกับและกำหนดนโยบายการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ มีหลักเกณฑ์และโปร่งใส ตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่ดี และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล โดยแนวทางนี้จะใช้กับการสรรหากรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือน ก.ค.2560 จำนวน 20 แห่ง

"เพื่อให้สามารถพิจารณาแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจด้วยความโปร่งใส รอบคอบ และมีทักษะและความเชี่ยวชาญตรงต่อความต้องการของรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น ครม.จึงเห็นชอบแนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจครั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานหลังจากนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับว่ารัฐวิสาหกิจที่กรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจจะครบวาระให้ใช้แนวทางนี้ทุกรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดความชัดเจน โปร่งใส" นายกอบศักดิ์กล่าว       สำหรับกรอบแนวทางในการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้น แบ่งเป็น 9 แนวทาง ได้แก่ 1.ให้นำสมรรถนะ หลักและความรู้ที่จำเป็น (Skill Matrix) มาใช้ในการพิจารณาสรรหาและแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจได้กรรมการตรงกับความต้องการที่แท้จริงในการขับเคลื่อนและพัฒนารัฐวิสาหกิจ 2.ในการแต่งตั้งกรรมการอื่นที่มิใช่กรรมการโดยตำแหน่งในรัฐวิสาห กิจแห่งใด ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาเสนอชื่อจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์การทำงานในภาคธุรกิจไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการอื่นของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจมีกรรมการที่มีความรู้ ความสามารถจากภาคธุรกิจต่างๆ มากยิ่งขึ้น

3.ห้ามมิให้มีการแต่งตั้งผู้บริหารสูงสุด หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจแห่งใดแห่งหนึ่ง เป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจอื่น เว้นแต่กรณีที่มีกฎหมายกำหนด หรือกรณีการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการของบริษัทที่รัฐวิสาหกิจนั้นถือหุ้นอยู่

4.ไม่แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ (สนช.) ข้าราชการการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้การเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการทำงานของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจได้ 5.ให้มีผู้แทนกระทรวงการคลังที่เป็นข้าราชการประจำ เป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของทางราชการในฐานะผู้ถือหุ้นของรัฐวิสาหกิจ 6.ให้มีผู้แทนกระทรวงเจ้า สังกัดของรัฐวิสาหกิจที่เป็นข้าราชการประจำในกระทรวงเจ้าสังกัด ซึ่งไม่อยู่ในหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจ (Regulator) จำนวน 1 คน เป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงนโยบายจากกระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจ แต่กรณีมีเหตุจำเป็นอาจแต่งตั้งเพิ่มเติมได้อีกไม่เกิน 1 คน

7.ในกรณีที่กฎหมายจัดตั้งของรัฐวิสาหกิจกำหนดให้มีผู้ดำรงตำแหน่งในส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่นเป็นกรรมการและผู้ดำรง ตำแหน่งนั้น จะมอบหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนในตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นพิจารณามอบหมายผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในหน่วยงานในสังกัดที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีเวลา และเหมาะสมกับความต้องการในการพัฒนาหรือแก้ปัญหาของรัฐวิสาหกิจนั้น โดยต้องทำเป็นคำสั่งมอบอำนาจเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบที่ชัดเจนและต่อเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่

8.กรณีกฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจกำ หนดให้มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ให้หน่วยงานนั้นแต่งตั้งจากบุคคลที่อยู่ในหน่วยงานอื่นเท่านั้น และ 9.ในกรณีที่ส่วนราชการแต่งตั้งข้าราช การประจำไปเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ หากข้าราชการผู้นั้นเกษียณอายุหรือพ้นจากการเป็นข้าราชการประจำ ให้ส่วนราชการแต่งตั้งข้าราชการคนใหม่ไปแทน เนื่องจากข้าราชการผู้พ้นจากตำแหน่งแล้วไม่อยู่ในข่ายต้องได้รับโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดทางวินัยของข้าราชการซึ่งไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานที่มิใช่ส่วนราชการ พ.ศ.2534 เพื่อให้การกำกับดูแลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจเป็นไปตามนโยบายของส่วนราชการนั้น