ประเด็นร้อน

ก่อนจะปฏิรูปตำรวจ

โดย ACT โพสเมื่อ Aug 01,2017

  - - สำนักข่าว มติชน วันที่ 01/08/60 - -

 

คอลัมน์ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์  madpitch@yahoo.com

 

กระแสการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจนั้น จัดได้ว่าเป็นกระแสที่มีคนสนใจอยู่ไม่ใช่น้อย และดูจะได้รับการยอมรับมากกว่ากระแสการปฏิรูปการเมือง

 

          กล่าวคือ แทบจะไม่มีใครยอมรับว่าสิ่งที่ตำรวจทำอยู่นั้น มันดีแล้ว ไม่ต้องไปแก้ไข หรือ เป็นสิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้ว ถ้าเทียบกับกรณีของการปฏิรูปการเมือง ที่อาจจะมีคนจำนวนมากรู้สึกว่าพวกเขาถูกพรากสิทธิทางการเมืองไปนับตั้งแต่การชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่พวกเขาเลือกมา หรือไปถึงเรื่องของการรัฐประหารเมื่อสามปีที่แล้ว

 

          แต่คำถามที่สำคัญก็คือ ทำไมการปฏิรูปตำรวจนั้นมันดูไม่น่าจะสำเร็จจริงๆ จังๆ

          ประการแรก เราคงต้องแยกแยะเสียก่อนว่าเวลาที่ปฏิรูปตำรวจนั้น เขาพูดถึงเรื่องอะไรบ้าง

          โดยทั่วไปแล้ว การปฏิรูปตำรวจนั้นมันเกี่ยวข้องกับเรื่องใหญ่ๆ อยู่สี่เรื่อง

          1.การโยกย้ายหน่วยงานไปๆ มาๆ โดยเชื่อว่าเรื่องของตำรวจนั้นเป็นเรื่องของการบริหารจัดการที่เหมาะสม แยกหน่วยนั้นไปขึ้นที่นั่นที่นี่ แตกหน่วยนู้นนี้ เรื่องแบบนี้ประชุมกันได้ทุกวัน

          2.ความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจ ก็ตามโผนั่นแหละครับ จะมีกี่โผก็ว่าไป คำถามสำคัญก็คือ เราไม่เคยตั้งคำถามว่าประชาชนจะประเมินการทำงานของตำรวจอย่างไร และการโยกย้ายตำรวจนั้นเป็นธรรมจริงไหม ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ยาก แต่ไม่มีใครอยากทำ ทั้งที่เราเริ่มมีการเก็บ Big Data มากมาย เราสามารถจะอธิบายได้ทันทีว่า ผลงานของตำรวจแต่ละรายเป็นอย่างไร และทำให้คำว่าความเหมาะสม นั้น ถูกตีความและวัดค่าได้มากขึ้น รวมทั้งการวัดระดับความพึงใจ ของประชาชน และการติดตามตรวจสอบการทำงานของตำรวจ ซึ่งหมายถึงการติดตามการคอร์รัปชั่นได้ง่ายขึ้น จากข้อมูลสื่อสังคมมากมาย

          3.การเพิ่มแรงจูงใจและสวัสดิการตำรวจ อันนี้ตำรวจอยากได้ แต่ประชาชนไม่ค่อยสนใจ

          4.การปฏิรูปจิตสำนึกของตำรวจ ตั้งแต่ เรื่องการเรียนการสอน การอบรม และป้ายคำขวัญต่างๆ

 

          ประการที่สอง เราอาจจะสับสนไปเองว่าการปฏิรูปตำรวจนั้นเท่ากับความรู้สึกไม่พอใจการทำงานของตำรวจ ทั้งที่เราเองก็ไม่รู้ว่าทำไมต้องปฏิรูปตำรวจ

          ข้อมูลของซุปเปอร์โพลล่าสุดมีนัยยะที่น่าสนใจ จากการสำรวจประชากรตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 1,152 คน พบว่า ประชาชนร้อยละ 46.0 ยังไม่รู้ความหมายของคำว่า ปฏิรูป ในขณะที่ร้อยละ 54.0 ระบุว่า รู้ความหมาย แต่ยังให้ความหมายของคำว่าปฏิรูปแตกต่างกัน เช่น ปฏิรูปคือความปลอดภัย ปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ปฏิรูปคือความชัดเจน ขณะที่บางส่วนเท่านั้นที่ระบุว่า ปฏิรูปคือ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมพอสมควรกับรูป กับสิ่งที่ต้องการจะปฏิรูป (ไทยรัฐออนไลน์ 29 ก.ค.2560)

 

          ข้อมูลของซุปเปอร์โพลยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกว่า เมื่อถามว่าจำเป็นและต้องทำการปฏิรูปทันทีหรือไม่ โดยเฉพาะในการปฏิรูประบบงานตำรวจ ผลสำรวจพบว่าไม่ถึง 1 ใน 3 หรือร้อยละ 28.2 ระบุจำเป็นและต้องทำทันที ในขณะที่จำนวนมากหรือร้อยละ 39.2 ระบุจำเป็น แต่ค่อยเป็นค่อยปรับ ปรับตามความเหมาะสม ในขณะที่ร้อยละ 32.6 ระบุไม่จำเป็นเพราะดีอยู่แล้ว (อ้างแล้ว)

 

          ประเด็นที่น่าสนใจจึงอยู่ที่ว่า เราจะปฏิรูปอะไรกับตำรวจ หรือจะว่าไปแล้ว เรื่องใหญ่จริงๆ อาจจะเป็นสภาวะอันสุดแสนธรรมดาที่ ตำรวจกับชาวบ้านนั้นย่อมจะมีแรงตึงเครียดระหว่างกัน ทั้งนี้เพราะการดำรงอยู่ของตำรวจนั้นมันมีนัยยะสำคัญเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างของความรู้สึกที่ทำให้เรารู้สึกว่ายังไงเราก็ไม่ชอบตำรวจที่ น่าอภิปรายต่อไปอีกนั้น เราคงต้องถามกันว่าทำไมเราไม่ชอบตำรวจ และไอ้การที่เรานั้นไม่ชอบหรือมีแรงตึงเครียดกับตำรวจนั้นตำรวจผิด เราผิด หรืออะไรกันแน่ที่สร้างปัญหามากกว่าทั้งจากเราและตำรวจ?

 

          ผมจะลองยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าเคยมีการศึกษาเรื่องราวหลายๆ อย่างที่มันทำให้เราค้นพบสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่จากปรากฏการณ์ที่อยู่ข้างหน้าของเรา ตัวอย่างเช่น นักสังคมวิทยารุ่นคลาสสิกท่านหนึ่งเคยพบว่า การฆ่าตัวตายนั้นมันไม่ได้เป็นเรื่องแค่ปัญหาทางจิตของคนแต่ละคน แต่มันเป็นตัวสะท้อนของการเคลื่อนตัวและความวุ่นวายของการเปลี่ยนผ่านสังคมที่การจัดระเบียบทางสังคมในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้นมันมีปัญหา

          นักจิตวิเคราะห์ท่านหนึ่ง เคยเสนอข้อค้นพบของเขาว่า การที่ประชาชนนั้นทะเลาะเบาะแว้งและเต็มไปด้วยความรุนแรงนั้นไม่ใช่แค่สันดาน หรือวัฒนธรรมของพื้นที่นั้น แต่เป็นผลสะท้อนของโครงสร้างอาณานิคมในพื้นที่นั้นต่างหาก

 

          เป็นไปได้ไหมว่า การที่เราเรียกร้องจะปฏิรูปตำรวจจนกลายเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นอุตสาหกรรมอันยิ่งใหญ่ที่สร้างอำนาจให้กับคนอีกจำนวนหนึ่งที่กลายเป็นตัวแทนในการเสนอเรื่องนี้ได้นั้น อาจจะมีเรื่องอะไรที่เราไม่ได้ระแวดระวังว่า เราเองนั้นไม่ได้มีปัญหากับตำรวจ แต่เราอาจจะมีปัญหาหรือแรงตึงเครียดกับอะไรที่ใหญ่กว่าเรื่องตำรวจก็ได้

 

          หมายความว่า ต่อให้ย้ายหน่วยงาน จัดการปัญหาการแต่งตั้งโยกย้าย และเพิ่มสวัสดิการและแรงจูงใจให้ตำรวจได้ เราก็อาจจะยังไม่สามารถทำให้การปฏิรูปตำรวจสำเร็จผลได้

          เงื่อนไขที่หนึ่งที่ผมอยากนำเสนอก็คือ เราจะต้องเข้าใจก่อนว่า ตำรวจนั้นเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจในลักษณะที่เรียกว่า "ข่มขู่-ขู่กรรโชก" (extortionate) แต่ไม่จำเป็นต้องหมายถึงเรื่องในแง่ลบ แต่หมายถึงการใช้อำนาจที่เป็นลักษณะที่จะต้องได้มาซึ่งการยินยอมปฏิบัติตามโดยที่ตำรวจจะเป็นผู้ที่ข่มขู่ว่า ถ้าเราไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่ตำรวจต้องการนั้น เราจะสูญเสียอะไรบางอย่างไป เช่นศักดิ์ศรี เสรีภาพ หรือทรัพย์สิน

 

          สิ่งที่ต่างกันระหว่างตำรวจกับโจรก็คงจะเป็นว่า การข่มขู่ดังกล่าวนั้นอ้างอิงกับข้อกฎหมายมากมาย เราจะเห็นว่าเวลาที่ตำรวจให้สัมภาษณ์ สอบสวน หรือเจรจานั้น ตำรวจจะอ้างข้อกฎหมายมากมายว่า ท่านผิดตามมาตรานู้น มาตรานี้ หรือถ้าท่านไม่ทำตามนี้ ท่านจะผิดตรงนั้นตรงนี้ และทำให้เรารู้สึกว่าจำเป็นต้องปฏิบัติตาม หรือไม่ฝ่าฝืนสิ่งตำรวจบอกให้เราทำ หรือกฎหมายบอกให้เราทำ

          อธิบายอีกอย่างก็คือ ตำรวจนั้นจะทำการพรากสิ่งที่เราเห็นว่ามันมีค่าในชีวิตของเราไป ถ้าเราไม่ทำตามที่เขาบอก

          อย่างไรก็ตาม ใน "เกมส์แห่งการขู่กรรโชก" นี้ ตำรวจไม่ได้จะอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าเรา หรือเหนือกว่าคนร้ายเสมอไป เพราะตำรวจอาจจะเจอสภาวะที่ยากลำบากอยู่มากมาย

          ตัวอย่างเช่น ตำรวจอาจจะเจอกับคนที่เขารู้สึกว่าจะมาบังคับอะไรเขาได้ จะมาพรากอะไรจากเขาได้ เพราะเขาไม่มีอะไรจะเสีย หรือคนที่ตัดสินใจได้แล้วว่าพร้อมจะเสีย(สละ)บางอย่างเพื่อให้ได้สิ่งที่เขาต้องการ คนพวกนี้เขาจะไม่เกรงกลัวตำรวจ ประเด็นนี้อาจจะรวมไปถึงว่าเขาไม่แคร์สิ่งที่เขาจะเสีย หรือไม่มีอะไรจะเสีย รวมไปถึงว่าตำรวจจะรู้ได้อย่างไรว่า คนร้ายหรือคนที่ถูกขู่นั้นเขาเห็นคุณค่าในสิ่งนั้น สิ่งที่ตำรวจต้องการจะนำมาข่มขู่ให้คนร้ายนั้นกลัว

 

          ตำรวจอาจจะเจอกับคนที่รู้ว่าตำรวจทำอะไรกับเขาไม่ได้ เพราะเขาก็หัวหมอ หรือสามารถอ้างอิงกับข้อกฎหมาย และไปต่อสู้กับคดีความในโรงในศาลได้เช่นกัน เรื่องเหล่านี้เราจะเคยเห็นอยู่บ่อยถึงภาพยนตร์หรือสื่อต่างๆ ที่อธิบายว่าตำรวจตัวเล็กๆ ต้องพ่ายแพ้แก่ระบบที่บิดเบี้ยวมากมาย

          ตำรวจอาจะเจอกับคนที่ไม่ใช้เหตุผลอะไรในการกระทำผิด ซึ่งทำให้ตำรวจไม่สามารถจะข่มขู่ หรือเจรจาอะไรได้

          สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ใช่ว่าผมจะมาปกป้องตำรวจ แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า เวลาที่เราพูดถึงการปฏิรูปตำรวจนั้น เราอาจจะต้องอธิบายเรื่องการปฏิรูปตำรวจมากไปกว่าการทำตนเป็นผู้ใหญ่รู้ดี มองเห็นปัญหาของตำรวจอย่างทะลุปรุโปร่ง และสามารถแก้ปัญหาจากภายนอกเขาไปจัดการตำรวจได้

          สิ่งที่นำเสนอมานั้นเป็นงานวิชาการของการศึกษาตำรวจบนถนนของ William K Muir (Police: Streetcorner Politicians) (Chicago University Press, 1977) ที่ชี้ให้เห็นอะไรที่มากกว่าขวัญและกำลังใจของตำรวจ แต่หมายถึงภาวะตึงเครียดในการปฏิบัติงานประจำวันของตำรวจ ที่จะต้องเผชิญกับทางเลือกที่ไม่ง่ายนักในการใช้อำนาจของเขา

          การทำความเข้าใจว่าตำรวจนั้นเจอแรงตึงเครียดอะไรในแต่ละวัน ไม่ใช่แค่มองว่าตำรวจต้องเจอกับคนไม่ดีเฉยๆ แต่มันเป็นเรื่องที่ว่าตำรวจจะใช้อำนาจอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ เวลาเจอผู้ที่กระทำความผิด หรือ จะกระทำความผิด (คนดีก็ทำผิดได้ครับ เห็นอยู่มากมาย) ตำรวจจะขู่อย่างไรไม่ให้ทำผิดนั้นก็เลยทำให้แม้แต่ตำรวจดีๆ ก็ท้อแท้ในการปฏิบัติหน้าที่ได้ การทำความเข้าใจสภาวะที่ตำรวจต้องเผชิญหน้านี้เองก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมตำรวจนั้นบางทีไม่ได้ใช้กฎหมายจัดการกับคนร้ายเลย หรือใช้ปืนข่มขู่อย่างเดียว แต่ต้องการเจรจาและคุยไปเรื่อยๆ ก่อน ส่วนหนึ่งก็เพื่อจะหาจุดหรือคุณค่าที่คนร้ายมี และไม่อยากเสียไป และทำให้สุดท้ายนั้นคนร้ายยินยอมที่จะทำตามสิ่งที่ตำรวจต้องการ

 

          สิ่งที่พยายามนำเสนอนี้ทำให้เราต้องนำมาคิดเพิ่มขึ้นไปอีก ถ้าเราไม่ได้ต้องการจะปฏิรูปตำรวจแค่ในเรื่องของการปรับองค์กร แต่ต้องการเข้าใจการปฏิรูปตำรวจในบริบทที่ใหญ่กว่านั้น คือในบริบทของการเปลี่ยนผ่านและการปฏิรูปการเมือง

          กล่าวคือ สิ่งที่ตำรวจมีนั้นก็คือ การที่ตำรวจจะต้องสามารถทำผูกขาดการใช้อำนาจบังคับในพื้นที่ได้ ในทางรัฐศาสตร์นั้น ความสามารถในการผูกขาดอำนาจก็คือเรื่องที่เราอธิบายง่ายๆ ว่ามันเชื่อมโยงกับสิทธิอำนาจ (legitimacy) หรืออำนาจที่จะต้องมีความชอบธรรมรองรับ

          คามชอบธรรมอาจจะมาจากหลายด้าน แต่ในยุคสมัยใหม่นั้นความชอบธรรมในการใช้อำนาจมันผู้โยงกับกฎหมาย มากกว่าเรื่องแค่ประเพณี และบุญบารมี

          ดังนั้นการที่ตำรวจนั้นผู้ขาดอำนาจรัฐในการใช้กำลังบังคับ มันก็สำคัญว่าตำรวจนั้นถูกมองว่าเป็นตัวแทนของรัฐ ทีนี้ถ้าประชาชนไม่ได้รู้สึกว่ารัฐนั้นเป็นรัฐที่ชอบธรรม ไม่ได้รู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของรัฐนั้น หรือควบคุมตรวจสอบผู้ถืออำนาจรัฐส่วนอื่นๆ ได้ ประชาชนก็อาจจะรู้สึกว่าตำรวจนั้นเป็นเพียงโครงสร้างส่วนบน (ภาษาซ้ายเก่าเรียกรวม คุก ทหาร ศาล ตำรวจ ไว้ด้วยกันด้วยซ้ำ) หรือเป็น "คนนอก" ที่พร้อมจะเข้ามาบังคับขู่เข็ญเรา แทนที่จะมองว่าตำรวจกับกฎหมายเป็นเนื้อเดียวกัน และกฎหมายนั้นเป็นกฎหมายที่เราออกกันเอง ก็อาจจะมองว่า ตำรวจนั้นเป็นผู้คุมที่พร้อมจะจัดการใช้อำนาจอะไรกับเราก็ได้ตามอำเภอใจ เพราะเราไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของอำนาจที่ออกกฎหมายเหล่านั้นมา

 

          อธิบายง่ายๆ ว่า บางทีเราอาจจะไม่ได้มีปัญหาหรือรังเกียจตำรวจอะไรขนาดนั้นหรอกครับ แต่เรารู้สึก "แปลกแยก" กับตำรวจ เพราะลักษณะธรรมชาติของการใช้อำนาจของตำรวจเองโดยส่วนหนึ่ง ทำให้เราไม่ชอบตำรวจ (เพราะเราไม่ชอบการใช้อำนาจ)

          แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือ เราจะยิ่งมีลักษณะที่แปลกแยกกับการใช้อำนาจในลักษณะนี้มากขึ้นไปอีกในสภาวะการณ์ที่เรารู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของอำนาจในการออกกฎหมาย หรืออำนาจอธิปไตย ซึ่งในความหมายนี้ต่อให้ตำรวจจะถูกปฏิรูปอีกกี่ครั้งเราก็จะรู้สึกเหมือนเราเป็นคนกลุ่มน้อย หรือพลเมืองชั้นสองในสังคมนี้ต่อไปเรื่อยๆ ตราบใดที่เรารู้สึกว่าอำนาจที่ตำรวจอ้างอิงในการใช้นั้นมันไม่ชอบธรรมครับ