ประเด็นร้อน

รุมค้านตั้งบรรษัทวิสาหกิจ รวบอำนาจ-เปิดช่องโกง

โดย ACT โพสเมื่อ Sep 11,2017

  - - สำนักข่าวผู้จัดการรายวัน - -

 

"ธีระชัย" ชี้ตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ จะรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ เป็น "หลุมดำ" ให้นักการเมืองแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว ไม่ต่างองค์กร 1 MDB ของมาเลย์ และเทมาเส็ก ของสิงค์โปร์ ด้าน "รสนา" เตือนพึงระวัง! ทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจอาจทำให้กลุ่มทุนอ้วนพี แต่รัฐวิสาหกิจอาจถึงขั้นสูญสิ้น ล้มละลาย

 

"ธีระชัย" ชี้ตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ จะรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ เป็น "หลุมดำ" ให้นักการเมืองแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว ไม่ต่างองค์กร 1 MDB ของมาเลย์ และเทมาเสก ของสิงคโปร์ ด้าน "รสนา" เตือนพึงระวัง! ทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจอาจทำให้กลุ่มทุนอ้วนพี แต่รัฐวิสาหกิจอาจถึงขั้นสูญสิ้น ล้มละลาย "สุริยะใส" จี้รัฐชะลอ ร่าง กม. เคลียร์ให้ชัดปฏิรูป หรือแปรรูป เพราะคลุมเครือหลายจุด หวั่นซ้ำรอยรัฐบาลก่อน เอารัฐวิสาหกิจไปขาย

 

          นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว "Thirachai Phuvanatnaranubala" ว่าด้วยการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หัวข้อ "เป้าหมายบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติไม่เพียงฐานะผู้ถือหุ้น" ตามข้อความดังนี้...

 

          "พ่อมดการเงิน และคนในวงการตลาดเงิน ตลาดทุน ย่อมจะมองออกได้ว่าเป้าหมายบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ คือ องค์กรอำนาจเบ็ดเสร็จ absolute power แบบเดียวกับองค์กร 1MDB ของมาเลเซีย และองค์กรเทมาเส็กของสิงคโปร์

 

          ถามว่าการมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหมือน 1MDB และเทมาเสก มีข้อเสียอย่างไร  มันเป็น "หลุมดำ" ... ที่นักการเมืองในรัฐบาล สามารถใช้หาประโยชน์ส่วนตัวได้น่ะซิครับ

 

          กรณี 1MDB ...ข่าวใน นสพ.วอลสรีต เจอร์นัลระบุว่า มีเงิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ไหลไปเข้าบัญชีของนายก นายราจิบ ราซัค และมีข่าวว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างไม่ยอมเป็นพยาน เพราะกลัวไม่ปลอดภัย

 

          กรณีเทมาเส็ก... ที่มาซื้อหุ้นบริษัทโทรศัพท์มือถือไปจากกลุ่มคุณทักษิณ ก็ถูกวิจารณ์ว่า อาจจะเลี่ยงกฎหมายไทย ด้วยการจัดตั้งบริษัทหนึ่งให้ถือหุ้นแทนในฐานะนอมินี เพื่อมิให้สัดส่วนการถือหุ้นต่างชาติขึ้นไปเกินเพดานตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีคนสิงคโปร์ วงในที่แจ้งข้อมูลให้ผมทราบพฤติกรรมที่น่าสงสัย เกี่ยวกับเทมาเส็ก ในกรณีอื่นอีกด้วย

 

          ผมจึงไม่ศรัทธาโครงสร้างที่รวบอำนาจแบบ 1MDB และ เทมาเส็ก เพราะลำพังให้รัฐวิสาหกิจของไทยแต่ละแห่ง ดำเนินการให้มีประสิทธิภาพเต็มที่ ก็พอแล้ว ... ไม่จำเป็นต้องไปทุรนทุราย คิดวิธีหากำไรเพิ่ม ด้วยการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ

 

          ทั้งนี้ ถ้าใครจะบอกว่า ผมมองว่าบรรษัทฯจะรวบอำนาจเบ็ดเสร็จนั้น เป็นการมองในแง่ร้ายเกินไป หรือเปล่า ???

 

          ผมขอตอบว่าไม่เกินไปแน่นอน เพราะลำพังอำนาจในฐานะผู้ถือหุ้นนั้น บ่อมิไก๊ครับ ... มีอำนาจอยู่วันเดียวเท่านั้น คือวันประชุมผู้ถือหุ้น ดังนั้น ถ้าจะร่างกฎหมายตั้งบรรษัท เพียงเพื่อให้ใช้อำนาจเฉพาะในฐานะผู้ถือหุ้นก็เสียเวลาทำมาหากินเปล่าๆ

 

          ...ร่างกฎหมายทั้งที มันก็ต้องมีระเบียบ วาระซ่อนเร้นเป็นธรรมดา แต่ซ่อนได้มิดชิด !!! ต้องระดับพ่อมดทางการเงิน หรือคนในวงการตลาดเงินตลาดทุน จึงจะมองออก น่ะครับ"

 

          ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล หนึ่งในแกนนำ คปพ. ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก "รสนา โตสิตระกูล" ในเรื่องเดียวกันนี้ว่า "ตั้งบรรษัทวิสาหกิจ (ซูเปอร์โฮลดิ้ง) มากำกับรัฐวิสาหกิจ ระวังรัฐวิสาหกิจตายเหมือนเสือในโคลงโลกนิติ"

 

          โคลงโลกนิติบทที่ 300

          "เบิกทรัพย์วันละบาท ซื้อมังสา

          นายหนึ่งเลี้ยงพยัคฆา ไป่อ้วน

          สองสามสี่นายมา กำกับ กันแฮ

          บังทรัพย์สี่ส่วนถ้วน บาทสิ้น เสือตายฯ"

 

          คำแปล : มีเจ้าพนักงานหนึ่งคนเลี้ยงเสือ ใช้เงินวันละ 1 บาท ปรากฏว่าเสือไม่อ้วน จึงส่งคนที่ 2 ไปกำกับบริหารจัดการให้มีประสิทธภาพ แต่ปรากฏว่าเสือผอมกว่าเดิม พอส่งคนที่ 3 เสือยิ่งผอมหนัก พอส่งคนที่ 4 ลงไปกำกับ เสือตายเลย เพราะทั้ง 4 คนคอร์รัปชันเงินค่าอาหารเสือคนละหนึ่งส่วน หนึ่งสลึง จึงครบสี่ส่วนถ้วน บาทสิ้นเสือตาย

 

          โคลงโลกนิติบทนี้ แต่งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร (พระองค์เจ้ามั่ง พระโอรสในรัชกาลที่ ๒) แสดงว่า คนโบราณรู้เรื่องราวการฉ้อราษฎร์บังหลวง(บังทรัพย์) ดี และรู้ว่ายิ่งตั้งคนไป "กำกับ" มากเท่าไหร่ อาจเพิ่มการโกงแบบบูรณาการ (หรือบูรณาโกง) มากขึ้น ก็เป็นได้

 

          ถ้านำมาเปรียบกับกรณีปัจจุบัน ที่จะมีการตั้งบรรษัท (ซูเปอร์โฮลดิ้ง) มาควบคุมรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส มี ธรรมาภิบาล แต่ก็ต้องพึงระวัง ! เพราะอาจจะทำให้บรรษัทรัฐวิสาหกิจอ้วนพีจากการผูกขาด แต่ทรัพย์สินที่ได้กำไร อาจจะไม่ได้เอากลับมาเป็นงบประมาณแผ่นดิน แต่ไปสร้างความร่ำรวยให้กลุ่มทุนมากกว่า ใช่หรือไม่

 

          อุปมาว่า ในรัฐวิสาหกิจมีการคอร์รัปชัน เหมือนคนเลี้ยงเสือ แม้จะโกงเงินค่าอาหาร (บังทรัพย์) ไป 1 ใน 4 ก็ยังเหลือเงินส่งเข้าหลวงอยู่ จึงควรแก้ไขบอร์ดและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ แทนที่จะทำให้ซับซ้อน เช่นตั้งคณะกรรมการมากำกับตรวจสอบชุดแล้วชุดเล่า อาจจะเข้าตำราที่ซีอีโอโบราณ เขียนเตือนไว้

 

          ร่าง กม. ซูปเปอร์บอร์ด ซูปเปอร์โฮลดิ้ง ที่จะตั้งบรรษัทมาดูแลเลี้ยงเสือ 11 ตัว (รัฐวิสาหกิจ 11 แห่ง) ในร่างกฎหมายนี้ จะตั้งคณะกรรมการนโยบาย (คนร.) แล้วให้ คนร. มาตั้งกรรมการบรรษัท และให้คณะกรรมการบรรษัท มากำกับบริหารทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจ ระวังเข้าตำรา ตอนเป็นรัฐวิสาหกิจยังพอเหลือเงินซื้ออาหารเสือ 3 ส่วน คือ 75 ส.ต. แต่พอตั้งกรรมการมากำกับ 2,3,4, โกงเงินหมดจนเสือตายเลย

 

          งานนี้ทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจ อาจทำให้กลุ่มทุนอ้วนพี แต่รัฐวิสาหกิจอาจถึงขั้นสูญสิ้น ล้มละลาย ประชาชน และประเทศ คือผู้รับผลความล้มละลายนั้น"

 

          จี้รัฐชะลอร่าง กม.บรรษัทวิสาหกิจ

          นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า กระแสเคลือบแคลงสงสัยของสังคม ต่อ ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูและบริหารรัฐวิสาหกิจ ที่จะนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งระบบ มิใช่การปฏิรูป ตามที่รัฐบาลกล่าวอ้างนั้น ภาครัฐต้องชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา ให้สังคมสิ้นข้อสงสัย และสร้างหลักประกันว่าจะเป็นการปฏิรูปจริงๆ ไม่ใช่การแปรรูป หรือเอารัฐวิสาหกิจไปขาย เหมือนความพยายามของรัฐบาลก่อนหน้านี้

 

          มีประเด็นมากมายใน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่ดูเหมือนมีการซ่อนเงื่อนปม เพื่อผ่องถ่ายทรัพย์สินของแผ่นดินไปอยู่ในมือนายทุนเอกชน ซึ่งอาจเป็นนายทุนต่างชาติด้วย เช่น เป้าหมายของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เน้นการแข่งขันเชิงพาณิชย์ มากกว่าการบริการประชาชน หรือไม่ ความเป็นรัฐวิสาหกิจจะพ้นไปโดยอำนาจของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือไม่  สัดส่วนที่มาของ คนร. มาจากการแต่งตั้งของฝ่ายการเมืองล้วนๆ จะปลอดจากกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ รวมทั้งสถานภาพของบริษัทลูก หรือบริษัทย่อยๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา ก็ไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจน ว่ารัฐต้องถือหุ้นในสัดส่วนเท่าไร

 

          "เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาติ และคนทุกกลุ่ม ถ้า ผิดพลาดคนแบกรับภาระ คือ ประชาชนเพราะรัฐบาลมาแล้วก็ไป จึงต้องรอบคอบ รับฟังความเห็นทุกฝ่ายอย่างจริงจัง"

 

          ที่สำคัญเรื่งนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติด้วย จึงไม่จำเป็นต้องรวบรัดตัดตอน ผลักดันเป็นกฎหมาย ทั้งที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็ยังไม่ได้จัดทำเนื้อหาสาระใดๆ พึ่งแต่งตั้งกรรมการ จึงควรระงับ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม้ก่อน และรับฟังความเห็นของสังคมวงกว้าง ตาม เจตนารมณ์ของ รธน. มาตรา 77 ด้วยน่าจะเป็นทางออกที่ดี และเป็นการลดอุณหภูมิความ ขัดแย้งทางการเมืองไปด้วย

 

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน


Follow LINE: http://bit.ly/2vDtGHV
Follow Facebook: http://bit.ly/2x3oArO