ประเด็นร้อน

การโกงข้อสอบ : เมื่อค่านิยมสำคัญกว่าความถูกต้อง

โดย ACT โพสเมื่อ Nov 01,2017

- - สำนักข่าวแนวหน้า - -

 

โดย : พริม สุกแสงฉาย

 

คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่า ที่เคยเห็นเพื่อนลอกข้อสอบ เอาข้อสอบให้เพื่อนลอก หรือเคยลอกข้อสอบของเพื่อน?

         

ผลสำรวจของโครงการ"คนไทย"มอนิเตอร์ 2557 : เสียงเยาวชนไทย (Youth Today) โดยมูลนิธิเพื่อคนไทยพบว่า เยาวชนไทยร้อยละ 81 ทุจริตโดยให้เพื่อนลอกข้อสอบ หรือลอกข้อสอบเพื่อน และร้อยละ 63 เซ็นชื่อเข้าเรียนแทนเพื่อน หรือให้เพื่อนเซ็นชื่อเข้าเรียนแทนให้

         

แน่นอน ทุจริตในการสอบไม่ได้เกิดกับการศึกษาไทยเพียงเท่านั้น งานวิจัยของศาสตราจารย์ Dan Ariely  ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในหนังสือชื่อว่า The (Honest) Truth about Dishonesty  เปิดเผยความจริงที่ว่า แม้แต่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอย่าง MIT, Yale หรือ Princeton ก็พร้อมโกงข้อสอบหากมีโอกาส ในสังคมที่แข่งขันสูงเรื่องของการศึกษา ดูเหมือนว่านักศึกษาที่ไหนๆก็ยอมหลับหูหลับตาหรือผ่อนผัน"ความถูกต้อง" หากช่วยให้ตนเองได้คะแนนที่ดีขึ้น

         

อย่างไรก็ตาม จากการที่ผู้เขียนเคยเป็นนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไทย จึงสังเกตเห็นว่า การที่นักศึกษาไทยหลายๆคน อยากได้คะแนนสูงๆนั้น มิใช่เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่นำไปสู่การเกิดทุจริตในห้องสอบ หากปัจจัยอีกหนึ่งข้อที่มีอิทธิพลยิ่งคือ การที่นักศึกษาให้ความสำคัญกับ"ค่านิยม"บางประการที่แพร่หลายในสังคมไทย เหนือ"ความถูกต้อง"และใช้ค่านิยมเหล่านั้นอย่างบิดเบือน

  

ค่านิยมอันหนึ่งที่ว่าคือเรื่องของ"น้ำใจ"การแบ่งปัน เอื้ออาทร ช่วยเหลือกันและกัน เป็นสิ่งที่สังคมไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นคุณสมบัติประจำวัฒนธรรมที่ทำให้คนไทยเป็นที่ชื่นชอบของคนหลายๆชาติ คำว่า"แล้งน้ำใจ" เป็นหนึ่งในคำด่าว่าที่สามารถทำให้คนถูกด่ารู้สึกแย่ได้ไม่น้อยทีเดียว ที่เฉพาะเจาะจงกว่านั้นคือ คนไทยมักจะมีน้ำใจมากเป็นพิเศษ ถึงขนาดยอมละเมิดกฎบางอย่างเพื่อช่วยบุคคลใกล้ชิดหรือผู้ที่รักชอบพอกัน คำว่า"เพื่อนต้องช่วยเพื่อน"คงเป็นคำที่ใครๆก็เคยได้ยินจนคุ้นหู

         

เรื่อง "น้ำใจ" นี้ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงงานวิจัยเศรษฐศาสตร์สังคมในมุมมอง"เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและเศรษฐศาสตร์สถาบัน"ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม และการทดลอง และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกล่าวถึงแนวคิด familism และการทุจริตในสังคมไทย (สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัยดังกล่าวได้ที่ https://www.the101.world/content-form/article/why-do-we-corrupt-thanee/)กล่าวโดยย่อ familismหมายถึงการที่เรานับเอาบุคคลที่อาจ ไม่ได้เกี่ยวพันกันทางสายเลือดเข้ามาเป็นเสมือนคนในครอบครัว ซึ่งคนเหล่านั้นอาจเป็นเพื่อนในกลุ่ม รุ่นพี่ที่นับถือ ผู้มีบุญคุณ ฯลฯ และปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นอย่างดีเป็นพิเศษเหนือ "คนอื่นๆ" ที่ไม่ได้อยู่ในวง familism ของเรา

         

แม้โดยตัวมันเอง familism ไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือไม่ดี แต่เมื่อถูกนำมาใช้ในบริบทที่ไม่เหมาะสม และถูกให้ค่ามากกว่าความถูกต้อง ก็สามารถนำไปสู่การทุจริตได้ ในหมู่นักศึกษาไทย familism เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป ตั้งแต่การช่วยจดคำบรรยายของอาจารย์ให้เพื่อน การถ่ายเอกสารเตรียมสอบมาแบ่งให้เพื่อนๆในกลุ่มอ่าน หรือช่วยเพื่อนเขียนรายงาน แม้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากความมีน้ำใจและความหวังดีแต่เมื่อนำไปใช้ต่อในการสอบวัดผลคะแนน ก็สามารถนำไปสู่การโกง หรือสนับสนุนการโกงข้อสอบได้อย่างน่าเสียดาย ผู้ที่ทำข้อสอบไม่ได้ก็ใช้ familism ขอให้เพื่อนในกลุ่มช่วยบอกคำตอบ ขณะที่ผู้ที่ทำได้ก็ส่งเสริมการโกงข้อสอบโดยบอกคำตอบให้เพื่อนลอกเพื่อรอด ด้วยวิธีการอันทันสมัยต่างๆ ส่วนผู้ที่สังเกตเห็นการโกงที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้ขัดขวาง เนื่องจากไม่อยากทำลาย familism ระหว่างเพื่อนฝูง ผลสำรวจโดยมูลนิธิเพื่อคนไทยที่ได้อ้างอิงไปข้างต้น ยังพบด้วยว่า เยาวชนไทยร้อยละ 75 เห็นว่าการให้เพื่อนลอกข้อสอบ หรือลอกข้อสอบเพื่อน เป็นการกระทำที่ไม่ผิดมาก/ไม่ผิดเลย

         

ค่านิยมที่อยู่คู่สังคมไทยอีกประการที่มักได้รับความสำคัญเหนือความถูกต้องคือ "ไม่เป็นไร นิดหน่อยเอง" เช่นเดียวกับความมีน้ำใจ แม้ค่านิยม"ไม่เป็นไร นิดหน่อยเอง"จะช่วยส่งเสริมความเอื้ออาทรและอภัยต่อกันในสังคมได้ ถ้าถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสม แต่ก็ยังสามารถส่งผลเอื้อทุจริตได้เช่นกัน นอกจากค่านิยมนี้จะใช้เป็นข้ออ้างให้นักศึกษาที่โกงข้อสอบว่า สิ่งที่ตนทำ ไม่ใช่เรื่องหนักหนาอะไรแล้ว ค่านิยมดังกล่าวยังเป็นตัวถ่วงทำให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาโกงข้อสอบไม่เกิดผลเท่าที่ควร

         

ใครๆคงทราบดีว่า สถาบันอุดมศึกษาทั้งหลายต่างมีกฎระเบียบและข้อลงโทษผู้ทุจริตการสอบอยู่แล้ว ไม่ว่าให้นักศึกษาผู้ละเมิดกฎ สอบตกโดยปริยาย การให้ซ้ำชั้นปี หรือแม้แต่ให้หมดสภาพความเป็นนักศึกษา แต่ทว่าค่านิยม "ไม่เป็นไร นิดหน่อยเอง"ที่ว่านี้ ทำให้ข้อปฏิบัติดังกล่าวไม่ถูกนำมาใช้อย่างเข้มงวด นักศึกษาที่เห็นการทุจริตก็ปล่อยสิ่งที่ตนเห็นให้ผ่านเลยไป ไม่ช่วยร้องเรียนให้เกิดความถูกต้อง ขณะที่อาจารย์ผู้รับผิดชอบบางท่านก็ไม่ ลงโทษนักศึกษาที่ทุจริตเนื่องจากเห็นว่า"ไม่เป็นไร นิดหน่อยเอง" การกระทำดังกล่าว ไม่ว่าเกิดจากความหวังดี อยากให้โอกาสแก่นักศึกษาอย่างไร ก็เป็นการเปิดช่องให้แก่การทุจริตทางการศึกษาโดยตรง

         

ในความพยายามหาทางป้องกันและแก้ไขการทุจริตทางการศึกษา ค่านิยมที่อยู่คู่สังคมไทยตลอดมาเหล่านี้ เป็นเรื่องหนึ่งที่เราทุกคนไม่อาจ มองข้ามไปได้ ซึ่งสิ่งที่เราควรทำ มิใช่การลดคุณค่าของค่านิยมแบบไทยๆ อันมีความหมาย หากเป็นการระวัง ไม่ยอมให้ตนเองหรือใครๆ ใช้ค่านิยมเหล่านี้ไปอย่างบิดเบือน หรือให้ความสำคัญกับค่านิยมเหล่านี้มากไปกว่าความถูกต้อง

         

หากจะจบบทความ ณ จุดนี้เสียเลย คงสร้างความค้างคาใจให้ผู้อ่านอยู่ไม่น้อยว่า การไม่ลดคุณค่าแต่ไม่บิดเบือนค่านิยมแบบไทยๆนั้น สามารถทำเป็นรูปธรรม ได้อย่างไรบ้าง ความสงสัยเดียวกันนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงเครื่องมือป้องกันการทุจริตที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างกว้างขวางและที่สำคัญได้ถูกนำมาใช้จริงแล้ว ตัวอย่างหนึ่งคือโครงการที่ชื่อว่า"สังคมดี๊ดี สองนาทีง่ายๆ"โดยแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต (CAC) สมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย (TMRS) และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งแฮนด์วิสาหกิจเพื่อสังคมมีโอกาสร่วมพัฒนาโครงการนี้ด้วย เพื่อสร้างพื้นที่ให้ประชาชนประเมินการให้บริการของหน่วยงานรัฐและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องเปิดเผย ตัวตน เพียงแค่ใช้โทรศัพท์มือถือสแกน QR Code ที่ติดตั้งอยู่ตามหน่วยงานรัฐ และผลสรุปข้อมูลก็จะถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการให้บริการ

         

หากนำเครื่องมือนี้มาปรับใช้กับสถาบันการศึกษา จะเป็นช่องทางหนึ่งช่วยให้นักศึกษาสามารถแจ้งข้อมูลการโกงข้อสอบหรือการปล่อยปละละเลยของอาจารย์ในการจัดการกับทุจริตในห้องสอบได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องทำลายค่านิยม"น้ำใจ" หรือยอมให้กับความ "ไม่เป็นไร นิดหน่อยเอง"

         

อีกโครงการหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ต้องแฉ (Must share+) ซึ่งเป็น facebook page ให้ประชาชนร่วมส่งข้อมูลการทุจริตไปยังกลุ่มนักข่าวสืบสวนสอบสวนที่มีประสบการณ์ เพื่อคัดกรองหาข้อมูลเพิ่มเติมและนำไป"แฉ"ต่อสาธารณะ นี่อาจเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สามารถพัฒนาเพื่อนำไปจัดการกับทุจริตทางการศึกษาได้เช่นเดียวกัน

         

หากเราไม่ยอมให้ค่านิยมที่อยู่คู่สังคมไทยนำไปสู่การโกง ไม่ว่าเป็นการโกงข้อสอบหรือโกงเงินแผ่นดิน และช่วยกันคิดหาเครื่องมือป้องกันทุจริตที่ให้คนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างทั่วถึง การแก้ไขปัญหาทุจริตในสังคมไทยโดยคงความงดงามของค่านิยมแบบไทยๆไว้อย่างไม่บิดเบือน ก็จะมีความหวังขึ้นมามากทีเดียว

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw
 

 

 

WebSite : http://www.anticorruption.in.th