ประเด็นร้อน

เราจะสร้างสังคมให้ดีขึ้นได้ไหม

โดย ACT โพสเมื่อ Nov 13,2017

 - - สำนักข่าวไทยโพส์ - -

 

โดย : บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย(IOD)

         

ปรากฏการณ์ที่คนไทยจำนวนมากได้ร่วมกันบริจาคเงินสนับสนุนโครงการก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ของตูน บอดี้สแลม ซึ่งเป็นข่าวที่ดังขณะนี้ และคนส่วนมากเห็นด้วย ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงพลังของสังคมไทยที่พร้อมร่วมมือกันทำในสิ่งที่ดีที่เห็นว่าถูกต้องเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมโดยไม่มีใครต้องชี้นำ เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่สังคมไทยมี เพราะในใจคนส่วนใหญ่อยากเห็นบ้านเมืองไปในทางที่ดี และพร้อมมีบทบาทช่วยเหลือเพื่อให้สังคมดีขึ้น น่าเสียดายแต่ว่าเรายังไม่สามารถนำศักยภาพเหล่านี้มาช่วยประเทศได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาสำคัญๆ ที่ประเทศมีอยู่ แม้ในช่วงที่ผ่านมา จะมีความพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ มากมายและสถานการณ์ก็เอื้อ คือ รัฐบาลมีอำนาจเต็มที่จะใช้แก้ไขปัญหา แต่ปัญหาส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ ไม่ไปไหน จึงมีคำถามว่า ประเทศหรือสังคมไทยจะสามารถเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้หรือไม่ ถ้าได้ อะไรคือสิ่งที่ต้องทำ ถ้าไม่ได้ อะไรคืออุปสรรคที่ต้องแก้ไข นี่คือคำถามที่ต้องการคำตอบ และถ้าเรายังตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ชัดเจน ความหวังที่อยากเห็นสังคมดีขึ้น ก็อาจต้องเป็นความหวังต่อไป ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ต้องการ

         

ในความเห็นของผม การเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้นเป็นสิ่งที่ทำได้ และสังคมไทยเองก็ได้เปลี่ยนไปมากจากในอดีต หลายๆ อย่างเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ ในอดีต เราเคยมีการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ในสังคมไทย ถึงขนาดต้องรื้อโครงสร้างอำนาจและความสัมพันธ์ของคนในสังคมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อประโยชน์ของประเทศในระยะยาว ตัวอย่างที่ดี คือ การเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ห้า ที่เปลี่ยนสังคมจากระบบศักดินาเดิมที่ให้สิทธิคนหนึ่งที่เป็นเจ้าของทาสสามารถมีอำนาจเหนือชีวิตอีกคนหนึ่งที่เป็นทาส เปลี่ยนเป็นสังคมที่คนไทยมีสิทธิเท่าเทียมกันมากขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ และเกิดขึ้นโดยไม่สร้างปัญหาหรือความขัดแย้งในสังคม ชี้ว่าสังคมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพียงแต่เราต้องมีวิธีการที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

         

แนวคิดหรือทฤษฎีตะวันตกว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสังคมมีมาก ส่วนใหญ่จะเริ่มจากข้อเท็จจริงว่า ในทุกการเปลี่ยนแปลงจะมีแรงต่อต้าน แรงต่อต้านนี้มาจากส่วนของสังคมที่ได้ประโยชน์จากสถานะปัจจุบันที่สังคมมีและจะเสียประโยชน์ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง จึงพยายามใช้อำนาจทุกอย่างที่มี ไม่ว่าจะเป็นอำนาจการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม หยุดหรือต่อต้านไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในเรื่องนี้ ต้องเข้าใจว่า ลึกๆ แล้ว กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้พวกเขาเสียประโยชน์ แต่ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ได้ประโยชน์ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

         

ในอีกด้าน ก็มีพลังในสังคมที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเพื่อให้สังคมดีขึ้น ซึ่งถ้าจะทำได้สำเร็จ พลังนี้ต้องใหญ่กว่าพลังต่อต้าน ดังนั้นการสร้างให้พลังที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเติบใหญ่จนกลายเป็นพลังที่ใหญ่กว่าแรงต่อต้านจึงสำคัญ เพราะเป็นเงื่อนไขความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลง

         

มีผู้รู้ท่านหนึ่งซึ่งเป็นนักวิชาการตะวันตกเคยพูดให้ผู้เขียนฟังว่าการสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงให้เติบใหญ่กว่าแรงต่อต้านนั้นจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขสนับสนุนสามเงื่อนไขที่ต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน

         

อันแรก คือ จะต้องมีความไม่พอใจในสังคมต่อระบบหรือต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม เป็นความรู้สึกไม่ชอบหรือไม่พอใจของคนในสังคมต่อสภาพปัจจุบันที่เกิดขึ้นจนทุกคนอยากเปลี่ยน อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพราะไม่ชอบสิ่งที่มีอยู่ นี้คือเงื่อนไขความไม่พอใจที่ต้องมีที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

         

สอง ต้องมีความชัดเจนในอนาคตหรือวิสัยทัศน์ของสังคมที่จะเกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลง เป็นความเข้าใจร่วมกันของคนในสังคมว่าสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นคืออะไร เป็นเป้าประสงค์หรือเป้าหมายร่วมกันที่คนในสังคมอยากให้เกิดขึ้น เป็นความหวังของสังคมที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

         

สาม ต้องมีเครื่องมือหรือแนวทางหรือวิธีการที่เป็นที่ยอมรับ ว่าสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ประสบความสำเร็จได้ เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นแรงดลใจให้คนส่วนใหญ่อยากขยายผลไปสู่ความสำเร็จที่ใหญ่กว่า เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่กว่า เป็นเหมือนความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนในสังคมเข้าร่วมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็น เป็นตัวจุดและสร้างโมเมนตัมให้กับการเปลี่ยนแปลง

         

ถ้าทั้งสามเงื่อนไขนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน คือ มีความไม่พอใจ มีวิสัยทัศน์ชัดเจนของเป้าหมายที่ต้องการไปสู่ และมีเครื่องมือหรือวิธีการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นที่ยอมรับสามเงื่อนไขนี้ก็จะสร้างโมเมนตัมให้กับการเปลี่ยนแปลง ทำให้พลังสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงจะเติบใหญ่จนเกินที่แรงต่อต้านจะหยุดยั้งได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ประสบความสำเร็จ

         

ในลักษณะนี้ ถ้ามองย้อนกลับไป การเลิกทาสในปี พ.ศ.2448 ก็ประสบความสำเร็จเพราะมีความพร้อมของสามเงื่อนไขนี้ คือ หนึ่ง มีความไม่พอใจของคนส่วนใหญ่ในสังคมต่อระบบทาสและระบบไพร่ที่มีอยู่ เพราะขณะนั้นคนไทยมีทาสเป็นจำนวนกว่าหนึ่งในสามของพลเมืองของประเทศ สอง รัชกาลที่ห้า ในฐานะผู้นำประเทศมีพระราชประสงค์ชัดเจนที่ต้องการเห็นประเทศไทยปลอดจากระบบทาส ให้ประชาชนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ลดความทุกข์ยากและไม่เป็นธรรมในสังคม ปลดปล่อยให้ประชาชนเป็นไทเพื่อเป็นพลังให้กับการพัฒนาประเทศ สาม ใช้การออกกฎหมายเป็นเครื่องมือ มีการแก้ไขกฎหมายต่อเนื่องเป็นระยะๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2417 เป็นเวลากว่าสามสิบปี โดยเริ่มจากการลดค่าตัวทาส จำกัดอายุการเป็นทาส จนถึงประกาศให้ลูกทาสทุกคนเป็นไทเมื่อเดือนเมษายน ปี พ.ศ.2448 พร้อมส่งเสริมให้มีการใช้แรงงานรับจ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นชาวจีนอพยพแทน เพื่อลดกระแสต่อต้านจากคนที่มีทาส ความสำเร็จของการเลิกทาสจึงเป็นตัวอย่างที่ชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงในสังคมไม่ว่าจะยากขนาดไหน สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมีครบถ้วน

         

ในลักษณะนี้ ความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นจึงเป็นสิ่งที่หวังได้และสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ แม้จะเป็นปัญหาใหญ่และคนไทยส่วนใหญ่ก็พร้อมเข้าร่วมสนับสนุนถ้าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ดังนั้นหน้าที่ของเราก็คือ ต้องทำให้เงื่อนไขทั้งสามเงื่อนไขเกิดขึ้นพร้อมกันเพื่อให้ประเทศเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น และการเปลี่ยนแปลงประสบความสำเร็จ สำหรับประเทศไทยขณะนี้ เท่าที่สังเกตความไม่พอใจต่อปัญหาของประเทศปัจจุบันมีอยู่ และส่วนใหญ่ต้องการเห็นสังคมเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ดังนั้น เงื่อนไขแรกของสามเงื่อนไขขณะนี้มีในสังคม ที่ขาดอยู่ คือ เงื่อนไขที่สอง คือ วิสัยทัศน์ของภาพในอนาคตที่ชัดเจนที่คนในสังคมส่วนใหญ่เห็นด้วยและต้องการสนับสนุน เป็นภาพการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่สังคมต้องการ ไม่ใช่มาจากสโลแกนของข้าราชการหรือรัฐบาล และเงื่อนไขที่สาม คือ ตัวอย่างความสำเร็จที่จะเป็นแรงดลใจให้คนในสังคมเดินไปด้วยกันเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น

         

นี่คือวิธีวิเคราะห์อีกวิธีที่อาจใช้หาคำตอบว่า ทำไมที่ผ่านมา การปฏิรูปหรือความพยายามที่จะทำให้สังคมดีขึ้นจึงยังไม่เกิดขึ้น แม้จะมีความพยายามมากก็ตาม โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าเมื่อเงื่อนไขแรกเกิดขึ้นแล้ว การจะสร้างเงื่อนไขที่สองและสามก็ไม่เกินวิสัยที่คนไทยจะร่วมแรงร่วมใจกันสร้างให้เกิดตามมาได้ เพราะส่วนใหญ่อยากเห็นสังคมไทยเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นจริงๆ

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw