ประเด็นร้อน
ดึง'เอสเอ็มอี'ร่วมต้านคอร์รัปชัน
โดย ACT โพสเมื่อ Jan 22,2018
- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -
"ไอโอดี" เปิดแผนงาน ปี 61 ขยายผลการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน และการกำกับดูแลกิจการที่ดีสู่เอสเอ็มอี ทั่วประเทศ ผ่อนแนวปฏิบัติลงเหลือ 17 ข้อ พร้อมเปิดอบรมผ่านออนไลน์หวังเข้าถึง ผู้ประกอบการต่างจังหวัด พร้อมวางเกณฑ์สำหรับกรรมการที่เคยอยู่ในองค์กรกำกับ ต้องเว้นวรรค 2 ปี ลดการแข่งขันที่ ไม่เป็นธรรม และผลประโยชน์ทับซ้อน
นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการ ผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือไอโอดี (IOD) กล่าวว่า แผนงานของไอโอดีในปี 2561 นี้ จะมีการขยายแผนงานทางด้านการต่อต้าน การทุจริตคอร์รัปชันไปยังธุรกิจเอสเอ็มอี โดยการออกใบประกาศใบรับรองการเข้าร่วม ซึ่งจะมีการจัดทำแนวปฏิบัติของเอสเอ็มอีในเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ที่แตกต่างจากแนวปฏิบัติของ บริษัทใหญ่ ขณะที่การฝึกอบรมต่างๆ ก็จะทำผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ เอสเอ็มอีในต่างจังหวัดมีโอกาสเข้าร่วมด้วย น่าจะเริ่มดำเนินการได้ปีนี้ "ปัจจุบันถือว่าการตระหนักและเห็นความสำคัญในเรื่องการกำกับดูแลกิจการ ที่ดี รวมถึงการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน มีมากขึ้น ไม่เฉพาะกิจการขนาดใหญ่ เท่านั้น รวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอีด้วย เราจึง ได้จัดทำแนวปฏิบัติสำหรับเอสเอ็มอีขึ้น หลักการยังเหมือนเดิม แต่มีแนวปฏิบัติ ที่ต่างกับบริษัทใหญ่ รายละเอียดน้อยลง จากกิจการทั่วไปมี 71 ข้อ เหลือ 17 ข้อเป็นต้น" โดยเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมจะได้ประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะในการรับงาน หรือ เป็นซัพพลายเออร์ให้กับกิจการขนาดใหญ่ ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องการต่อต้าน การทุจริต ซึ่งก็ต้องอยากทำงานกับกิจการที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นเดียวกัน รวมถึงหน่วยงานรัฐ ที่อาจจะมีการกำหนด เรื่องเหล่านี้เป็นเงื่อนไขในการรับงานของ หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะหลังจากพ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ออกมาบังคับใช้
นอกจากนี้ไอโอดียังจะมีการร่าง แนวปฏิบัติสำหรับกรรมการบริษัท ที่เคยอยู่ในองค์กรกำกับดูแลกิจการนั้นมาก่อน เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน หรือ การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยเห็นว่าบุคลากรที่อยู่ทำงานอยู่ในองค์กรกำกับดูแลกิจการนั้น โดยตรง ควรจะมีการเว้นวรรค เป็นเวลา 2 ปีก่อน ถึงจะเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลได้ พร้อมกับบริษัทที่จะแต่งตั้งกรรมการที่เคยอยู่ในองค์กรกำกับเข้ามา ก็ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องนี้ด้วย
"ที่ผ่านมา เรามักจะเห็นกรรมการที่พอเกษียณ หรือพ้นจากตำแหน่งในองค์กรกำกับ ก็จะมานั่งเป็นที่ปรึกษา หรือกรรมการในบริษัทที่ตัวเองเคยกำกับมาก่อน ซึ่งก็อาจจะเกิดความได้เปรียบทางด้านข้อมูล หรืออาจจะมีการใช้อิทธิพลเก่าที่เคยมีใน องค์กรนั้นๆ เอื้อประโยชน์แก่กิจการ ที่นั่งเป็นที่ปรึกษา หรือกรรมการ ก็จะเกิด การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมขึ้น เราจึงได้ ร่างแนวปฏิบัติสำหรับกรรมการในเรื่องนี้ออกมา ซึ่งหากเข้ามาเป็นกรรมการในกิจการ ที่ไม่ได้กำกับโดยตรงไม่ต้องเว้นวรรค แต่ก็ต้องมีการเปิดเผยข้อมูล" แนวปฏิบัติในเรื่องนี้คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ ในไตรมาส 1 นี้ ซึ่งจะเริ่มสำหรับกิจการ ที่ต้องเข้ามาสมัครรับการรับรองใหม่ หรือกิจการที่ครบรอบต้องมาต่อ ซึ่งใบรับรอง จะครบรอบมาต่อทุก 3 ปี แต่ละบริษัท จะครบรอบไม่เท่ากัน หากไม่ดำเนินการตามแนวปฏิบัตินี้ก็จะไม่ได้รับการรับรองจากไอโอดี
เขากล่าวต่อว่า ไอโอดียังมีแผนจะ ขยายการทำแนวปฏิบัติเรื่องการกำกับดูแล กิจการที่ดีไปยังองค์กรที่ไม่แสวงกำไร ต่างๆ ด้วย เช่นสหกรณ์ออมทรัพย์ และสถานศึกษาเป็นต้น เพื่อให้มีแนวทาง ในการกำกับที่ดี ซึ่งจะมีส่วนช่วยใน การป้องกันความเสียหายได้ เพราะที่ผ่านมา ก็มักจะมีข่าวความเสียหายในองค์กร ที่ไม่แสวงกำไรออกมาเป็นระยะ
ขณะเดียวกันยังจะมีแผนให้อบรมให้ความรู้แก่สมาชิกในเรื่องความสำคัญของกำกับดูแลที่ดีด้านไอที หรือ ไอทีซีจี เพื่อให้กรรมการเห็นความสำคัญในด้านนี้ ไม่ใช่มองเป็นเรื่องของฝ่ายไอที เพราะเกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยง เช่น cyber security เป็นต้น
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน