ประเด็นร้อน

อย่าปล่อยให้คน'โกง'ลอยนวล

โดย ACT โพสเมื่อ Mar 28,2018

- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -

 

คอลัมน์ จับกระแส   โดย : หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ

 

ทุจริตกองทุนเสมาฯ

 

"สินน้ำใจ" หรือ "ส่วย" อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน เห็นได้ชัดจาก "พระยาโกษาเหล็ก" รับสินน้ำใจและถูกโบยจนตรอมใจเสียชีวิตและมีพัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน เห็นได้จากเมื่อมีกรณีตรวจสอบ "ทุจริต-คอร์รัปชัน" พบคนที่กระทำการเป็น "ข้าราชการ" ของแผ่นดินกันทั้งสิ้น

 

ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ยักยอกโอนเงินไปใส่บัญชีบุคคลอื่นถึง 22 บัญชีแทนบัญชีสถานศึกษา เป็นระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2551-2561 เป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 88 ล้านบาท ล่าสุดพบอีกว่าในปี 2551 และ 2553 มีการโอนเงินออกจริง 30 ล้านบาท แต่ไม่มีข้อมูลแจ้งว่าถูกโอนไปที่ใด

 

"รจนา สินที" คือผู้ที่กระทำการดังกล่าว ทั้งๆ ที่เป็นผู้ริเริ่มโครงการเสมาพัฒนาชีวิตมาตั้งแต่ปี 2538 ถึงปัจจุบัน รับผิดชอบในการจัดทำข้อมูล รายละเอียดเสนอการขออนุมัติทุน และจะเกษียณอายุราชการ ปี 2561 ล่าสุดคณะกรรมการ อ.ก.พ.สป.ศธ. ทั้ง 7 คน มีมติเป็นเอกฉันท์ ลงโทษไล่ออกจากราชการ เพราะถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ไม่ได้รับบำเหน็จ บำนาญ มีผลทันที โดยสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน

 

โกงเงินคนจน 53 จังหวัด

 

ป.ป.ท.ตรวจสอบเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและ คนไร้ที่พึ่ง ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ที่ได้รับงบประมาณจำนวน 76 ศูนย์ ที่ได้รับงบประมาณตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป พบความผิดปกติทั้งหมด 53 จังหวัด งบประมาณ 107,049,000 บาท คิดเป็น 87% ของงบประมาณที่ได้รับ

 

ว่ากันว่าลึกๆ แล้วหน่วยงานที่มีการโกงเหล่านี้มีการทำเป็นขบวนการ ทุกตำแหน่งล้วนมีส่วนสัมพันธ์กันตั้งแต่ผู้อำนวยการในศูนย์พักพิงคนไร้ที่พึ่ง และศูนย์พัฒนาพื้นที่สูง เห็นได้จากที่ พม.มีคำสั่งโยกย้ายข้าราชการระดับซี 9 จำนวน 14 รายออกจากตำแหน่งเป็นการชั่วคราว หลังพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยเหลือให้ข้าราชการในสังกัดของตนเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ต้องรอดูว่า ป.ป.ช.จะเอาผิดกับข้าราชการเหล่านั้นได้หรือไม่

 

วัคซีนพิษสุนัขบ้าไม่ได้คุณภาพ?

 

หลัง นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ออกมาตั้งข้อสงสัยวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ว่ามีการหักเหของงบประมาณหรือไม่ เนื่องจากมีตัวเลขการควบคุมและการแพร่ระบาดของโรคสวนทางกัน ในที่สุดกรมปศุสัตว์ก็ยอมรับว่า ปี 2559 ไม่มีการฉีดวัคซีน พิษสุนัขบ้า เพราะองค์การอาหารและยา (อย.) ตรวจพบวัคซีนไม่มีคุณภาพและเรียกคืน และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ทักท้วงเรื่องของอำนาจของท้องถิ่นว่าไม่สามารถใช้งบประมาณในการซื้อวัคซีน จึงทำให้ในปีนั้นมีการฉีดวัคซีนไม่ครบตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

 

ส่วนปี 2560 มีการฉีดเพียง 3 ล้านตัว ในส่วนกรมปศุสัตว์ ฉีด 9.5 แสนตัว องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 1.9 ล้านตัว จากจำนวนสุนัขประมาณ 8.24 ล้านตัว จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการระบาดอย่างมากในปีนี้ ทั้งหมดทั้งปวงนี้อยู่ในความรับผิดชอบของ "ข้าราชการ" ทั้งสิ้น

 

 
 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw