ประเด็นร้อน

ระบบราชการไทย'ปฏิรูป'ได้หรือไม่

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 23,2018

- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -

 

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต  โดย : ดร.บัณฑิต นิจถาวร
 
 
ระยะนี้มีข่าวทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นในหลายกระทรวง ตั้งแต่ข้าราชการระดับเล็กไปถึงสูง ทำกันเป็นกระบวนการ เช่นโกงเงินงบช่วยเหลือผู้ที่ทุกข์ยาก ผู้ป่วยโรคเอดส์ เงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง เงินกองทุนการศึกษา เด็กที่เป็นเหยื่อขบวนการค้ากาม เบี้ยคนชราภาพ รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างที่แพงเกิน แม้ในโรงพยาบาลรัฐ
 
 
ข่าวเหล่านี้สะเทือนใจและสร้างความผิดหวังให้กับประชาชน เพราะระบบราชการควรเป็นที่พึ่งของประชาชน แต่กลับหาประโยชน์จากประชาชนที่ยากไร้อย่างไม่มีความละอาย แม้เป็นข้าราชการระดับสูงสะท้อนว่า สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของการทุจริตคอร์รัปชันในระบบราชการไทยขณะนี้
 
 
นอกจากการทุจริตคอร์รัปชัน ประสิทธิภาพและการทำหน้าที่ของระบบราชการก็เป็นอุปสรรค ผลสำรวจความเห็นประจำปีของนักลงทุนและนักธุรกิจต่างประเทศที่ทำธุรกิจในประเทศไทยล่าสุด ในรายงานความสามารถในการแข่งขัน (Global Competitiveness Report) โดย เวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum) ปี 2017 ชี้ว่า
 
 
ข้อจำกัดสำคัญ 4 อันดับแรก คือ 1.เสถียรภาพของรัฐบาล 2.ประสิทธิภาพของระบบราชการ 3.การทุจริตคอร์รัปชัน 4.ความไม่เสถียรของนโยบาย คือ นโยบายเปลี่ยนแปลงบ่อย 4 เรื่องนี้รวมแล้วมีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของข้อจำกัดทั้งหมดที่นักธุรกิจพูดถึง
 
 
ในประเทศเอง การไม่ทำหน้าที่ของข้าราชการอย่างที่ควรจะเป็น ได้กลายเป็นข้อจำกัดสำคัญของการพัฒนาประเทศการปฏิรูประบบราชการก็ทำได้ยาก เพราะข้าราชการมักไม่ให้ความร่วมมือ เนื่องจากไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่ อีกทั้งระบบราชการได้เติบโตจนกลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ใหญ่ที่มีอำนาจและมีพลังมาก
 
 
ทำให้จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครกล้าที่จะแก้ไขหรือปฏิรูประบบราชการอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหนที่เข้ามาบริหารประเทศ ปัญหาจึงมีอยู่ จนเป็นจุดอ่อนของประเทศ ต่างกับสมัยก่อนเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ที่ระบบราชการเป็นจุดแข็งของประเทศ เป็นกลไกที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาและรักษาผลประโยชน์ของประเทศจนเป็นที่ยอมรับในเวทีสากล คำถามคือ เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร และทำไมข้าราชการไทยจึงเป็นอย่างที่เป็นทุกวันนี้
 
 
ผมเองเคยรับราชการมาก่อน เข้าใจดีว่าผู้ใหญ่ในระบบราชการก็รู้สึกเหมือนกันว่าระบบราชการแย่ลง มีปัญหาและต้องแก้ไข ขณะเดียวกัน คนดีๆ ในระบบราชการก็มีอยู่มาก ทำให้มีความหวังว่า ถ้าทำจริงจัง เราน่าจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงระบบราชการให้กลับมาเป็นจุดแข็งของประเทศเหมือนอย่างที่เคยเป็นได้ แต่เราจะแก้อย่างไร
 
 
ในความเห็นของผม ปัญหาของระบบราชการไทยน่าจะมาจาก 4 เรื่อง
 
 
1. ผลตอบแทนหรือเงินเดือนในระบบราชการไม่สูงพอ เมื่อเทียบกับความรับผิดชอบที่ต้องมีตามหน้าที่ และเทียบกับการคาดหวังจากสังคมที่อยากเห็นข้าราชการทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรง มีคุณธรรมและจริยธรรม และผลตอบแทนในระบบราชการก็ไม่สามารถรักษาคนดีที่มีความรู้ความสามารถให้อยู่ในระบบได้
 
 
2. การแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งมีมากในทุกระดับจนได้ทำลายวินัย การบังคับบัญชาและวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งที่ระบบราชการเคยมี ฝ่ายการเมืองเข้ามาก็ต้องการให้ข้าราชการตอบสนองขับเคลื่อนนโยบายที่ตนต้องการ ซึ่งนโยบายมีทั้งดีและเลวทั้งถูกกฎหมายและขัดต่อกฎหมาย
 
 
หัวหน้าส่วนราชการที่พร้อมตอบสนองไม่มีความคิดความอ่านเป็นของตัวเองยอมทำให้แบบไม่มีหิริโอตตัปปะ มุ่งแต่เรื่องตนเอง ก็จะอยู่ได้ มีตำแหน่ง ได้เลื่อนตำแหน่ง และได้ประโยชน์ต่างๆ ตามไปด้วย
 
 
3. ความไม่โปร่งใสในกระบวนการทำงานของระบบราชการที่เอื้อให้เกิดการละเมิด (Abuse) การใช้อำนาจเพื่อหาประโยชน์ เอื้อให้ใช้ดุลยพินิจตามอำนาจหน้าที่อย่างไม่ถูกต้อง เลือกปฏิบัติ ซึ่งทั้งหมดก็คือ เครื่องมือในการหารายได้และประโยชน์จากตำแหน่ง ทำให้การมีตำแหน่งสำคัญมากสำหรับข้าราชการ
 
 
เรื่องนี้นักการเมืองทราบดี จึงใช้การเลื่อนตำแหน่งเป็นเครื่องมือที่จะเลือกคนเข้ามาปฏิบัติรับใช้ ขับเคลื่อนนโยบายที่ตนต้องการ ผิดหรือถูกไม่ต้องถาม และที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะกระบวนการทำงานในระบบราชการไม่โปร่งใส ทำให้นักการเมืองสามารถขับเคลื่อนนโยบายที่ไม่ดีต่างๆ ออกมา โดยไม่มีใครทราบหรือรู้รายละเอียด ทำให้ไม่มีการคัดค้านข้าราชการที่ทำเรื่องก็เงียบ เพราะร่วมหัวจมท้ายอยู่
 
 
4. ระบบการตรวจสอบและเอาผิดลงโทษข้าราชการที่ประพฤติผิดอ่อนแอเพราะไม่มีระบบตรวจสอบที่เป็นกลางและจริงจัง คือ เมื่อเกิดการทำผิด คนทำผิดจะถูกสอบด้วยคนในหน่วยงานเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่นำไปสู่การลงโทษที่เด็ดขาด เรื่องมักจะเงียบหรือจบด้วยการออกจากราชการ
 
 
ขณะที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประเทศจากการฉ้อโกงหรือทุจริตอาจจะไม่มีการตามต่อ หลังได้แจ้งตำรวจหรือโอนให้ป.ป.ช.สอบสวน ซึ่งมักใช้เวลา ทำให้คนทำผิดไม่ต้องติดคุก ถูกยึดทรัพย์หรือรับโทษทันที ยังสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติเหมือนเป็นคนโชคไม่ดีที่โกงแล้วถูกจับได้ ระบบตรวจสอบและเอาผิดแบบนี้จึงสร้างแรงจูงใจให้ข้าราชการและนักการเมืองกล้าทำผิด เพราะโอกาสที่จะถูกจับกุมลงโทษมีน้อย
 
 
ทั้ง 4 เรื่องเป็นปัญหาสำคัญของระบบราชการไทยที่ต้องแก้ไข และทั้ง4 เรื่อง ถ้าดูจากประสบการณ์ต่างประเทศก็ล้วนเป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเรื่องเงินเดือน การแทรกแซงของฝ่ายการเมือง ความไม่โปร่งใส และการตรวจสอบและลงโทษผู้กระทำผิด ที่ขาดอยู่คือ เรายังไม่ทำจริงจัง ยังไม่แก้ปัญหาจริงจัง เพราะคนที่มีอำนาจและอยู่ในตำแหน่งที่จะแก้ปัญหาได้ยังไม่ทำหน้าที่
 
 
แล้วจะแก้ไขอย่างไร ข้อคิดที่อยากฝากไว้ คือ ระบบราชการเป็นปัญหาของทุกประเทศ แต่ที่ปัญหาเรามาก ก็เพราะระบบราชการของเราใหญ่ มีอัตรากำลังคนในฝ่ายพลเรือนที่เป็นข้าราชการมากถึง2.19 ล้านคน ทำให้ปัญหาของเราส่วนใหญ่คือ ปัญหาคน คือ ทำอย่างไรให้ข้าราชการเป็นข้าราชการที่ดีที่ทำหน้าที่ตามการคาดหวัง
 
 
ด้วยเหตุนี้ การแก้ปัญหาจึงต้องเริ่มด้วยการสร้างความเข้าใจว่าเราต้องการอะไรจากข้าราชการ ซึ่งมีคำถาม 3 ข้อที่ต้องตอบ
 
 
1. ข้าราชการที่ดีที่อยากเห็นเป็นอย่างไร 2. ข้าราชการทั้ง 2.19 ล้านคนจะเป็นข้าราชการที่ดีได้อย่างไร และ3. รัฐจะใช้ประโยชน์ข้าราชการที่ดีที่มีอยู่อย่างไร
 
นี่คือจุดเริ่มต้นที่ต้องชัดเจน แต่ถ้าผู้ที่ต้องแก้ปัญหายังไม่สามารถตอบคำถามทั้ง 3 ข้อนี้ได้ ก็ยากที่จะเริ่มต้นได้อย่างถูกต้อง ทำให้การ"ปฏิรูป" ต่างๆ จึงไม่สำเร็จ
 
'ถ้าทำจริงจัง เราน่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงระบบราชการให้กลับมาเป็นจุดแข็งของประเทศอย่างที่เคยเป็นได้'

 

 

 

 

 

 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw