ประเด็นร้อน

ต่อต้านการฉ้อโกงทุกระดับสังคม

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 27,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก สยามรัฐ - -

 

สถาบันทางสังคมในสังคมไทยกำลังถูกกัดกร่อนให้เสื่อมลง แม้แต่สถาบันทางศาสนา เช่น "วัด" "สงฆ์" สถาบันทางการศึกษา เช่น โรงเรียน สถาบันที่ดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตพลเมืองไทย เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ ประเด็นความเสื่อมที่เด่นคือการ คอร์รัปชัน

 

การคอร์รัปชันก็คือการโกง แต่คนทั่วไปมักมองว่า การโกงในหน่วยงานราชการเท่านั้นจึงจะเป็นการคอร์รัปชัน ส่วนการโกงโดยปัจเจกชนทั่วไป ไม่ใช่คอร์รัปชัน เป็นแค่การฉ้อโกงหรือหลอกลวงกันส่วนตัว

 

แต่การหลอกลวงฉ้อโกงกันในหมู่ประชาชนไทยนั้น มีอยู่ทั่วไปทุกระดับ หลายเรื่องก็มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก และความเสียหายที่เกิดขึ้นก็มากทีเดียว เช่น การหลอกขายเครื่องสำอางในโซเชียลมีเดียการหลอกขายทัวร์ในโซเชียลมีเดีย การทุจริตในสหกรณ์มากมายหลายแห่งทั่วประเทศ ฯลฯ

 

การเคลื่อนไหวต่อต้านการคอร์รัปชันที่ทำกันในลักษณะองค์กรใหญ่นั้น มักจะเน้นพุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนที่เข้าไปมีอำนาจบริหารบ้านเมืองเจ้าหน้าที่และข้าราชการ ดังเช่นที่ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เคยเขียนบทความเสนอความเห็นเรียกร้องผู้บริหารประเทศว่า

 

"การมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง(Political Will) ของผู้บริหารประเทศเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการต่อสู้เพื่อเอาชนะปัญหาคอร์รัปชันของทุกประเทศทั่วโลก ที่ต้องมีควบคู่กับทัศนคติของประชาชนที่ไม่ยอมรับ ไม่ยอมทนต่อพฤติกรรมคอร์รัปชันทุกรูปแบบ แต่จากการศึกษาพบว่าในรอบสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยภายใต้การบริหารงานของ 6 รัฐบาลไม่มีรัฐบาลไหนเลยที่มีนโยบายหรือมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงจัง เพื่อเอาชนะคอร์รัปชันที่มีการพัฒนารูปแบบและกระบวนการอยู่เสมอ ตรงกันข้ามทุกวันนี้เรากลับได้พบเห็นว่ามีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นทั่วไป ตั้งแต่ระดับรัฐบาล หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจจนถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบล การคอร์รัปชันเหล่านั้นทำกันอย่างเปิดเผยมากขึ้น การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐก็ถูกโจมตีว่าขาดความโปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และมีการผลักดันนโยบายประชานิยมที่ขาดความรับผิดชอบจำนวนมาก

 

ดังนั้นสรุปได้ไหมว่าประเทศไทยยังขาดผู้นำที่มีความตั้งใจจริงที่จะปราบคอร์รัปชัน ซึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาขาดวิสัยทัศน์หรือเป็นเพราะมีผลประโยชน์อยู่กับการคอร์รัปชันเสียเอง หรือทั้งสองอย่างก็ตามผู้มีอำนาจ (นักการเมืองและข้าราชการ) ล้วนมีโอกาสที่จะใช้อำนาจในมืออย่างบิดเบือนหรือโกงได้ทั้งนั้น ยิ่งมีอำนาจมากสามารถปิดกั้นสื่อมวลชนและกลไกตรวจสอบได้มากก็จะยิ่งโกงได้มากขึ้น

 

ไม่มีใครเชื่อหรอกว่านักการเมืองจะยอมทำอะไรที่เป็นการลดโอกาส ลดอำนาจของตัวเองอย่างง่ายๆ ดังนั้นเพื่อเอาชนะคอร์รัปชันสังคมต้องตื่นตัว เราต้องมีระบบ มีกลไก มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมไว้ช่วยตรวจสอบ ป้องกัน รวมทั้งมีการสร้างทัศนคติค่านิยมที่ถูกต้องของผู้คนในสังคมไว้ให้เข้มแข็ง"

 

(บทความ "ถึงเวลา คนไทยร่วมกันกำจัดคนโกง" เว็บข้อมูลสำคัญของการต่อต้านคอร์รัปชัน ม.ค. 2557 http://www.anticorrup tion. in.th/)

 

แน่นอนว่า ชนชั้นบน ได้แก่ ผู้บริหารประเทศ ผู้มั่งคั่งมีอำนาจเงินและเครือข่ายความสัมพันธ์กับโครงสร้างอำนาจในสังคมไทย เจ้าหน้าที่รัฐผู้มีตำแหน่งการงานที่ส่งผลกระทบต่อราษฎรได้มาก เป็นบุคคลที่มีผลต่อการลดทอนการคอร์รัปชันมาก ทั้งในแง่ความเป็นตัวอย่างให้คนอื่นเอาอย่าง และการมีอำนาจทางด้านบริหารฯ จึงต้องเป็นเป้าหมายที่ถูกเรียกร้องสูง

 

แต่สังคมไทยก็ไม่ควรละเลย ปัญหาทางวัฒนธรรม ที่คนไทยส่วนไม่น้อยมีนิสัย "ขี้โกง" "ชอบเอารัดเอาเปรียบคนที่ต่ำกว่า" ยินดีกับระบบอุปถัมป์พึ่งพา ฯลฯ อันเป็นเนื้อดินดีให้การคอร์รัปชันเติบโตการแก้ไข ป้องกันการฉ้อโกงจึงต้องเอาจริงเอาจังในทุกระดับสังคม

 

 

 

 

 

 

 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw