ประเด็นร้อน

เจ้าหน้าที่ของรัฐกับการคอร์รัปชัน

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 30,2018

- - ขอคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -

 

คอลัมน์ ที่นี่แนวหน้า  :  โดย ศิริภูมิ (จากเสมียนถึงปลัดกระทรวง)

 

เมื่อสามสัปดาห์ที่แล้ว แนวหน้าได้กรุณานำบทความ เรื่อง "ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เราควรจะเอาปี๊บคลุมหัวเดินกันหรือยัง" มาลงเมื่อวันเสาร์ที่ 31 มีนาคม และวันเสาร์ที่ 7 เมษายน 2561 กับเรื่อง "เจ้าหน้าที่ของรัฐ กับการคอร์รัปชัน (ตอน 3)" เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน 2561

 

ในตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงการเข้าสู่อำนาจตุลาการ แทนปวงชนชาวไทย ว่า จะต้องผ่านกฎเกณฑ์ด้านความรู้ทางกฎหมาย อย่างเคร่งครัด ผ่านการฝึกอบรม การกลั่นกรอง การตรวจสอบด้านความรู้ ความสามารถ จริยธรรม ความประพฤติ เป็นอย่างดี

 

ประชาชนทุกคนที่เข้าหลักเกณฑ์ ผ่านการ กลั่นกรองการ ตรวจสอบ แล้ว ก็ย่อมเข้าไปสู่อำนาจตุลาการได้ โดยมิต้องผ่านการเลือกตั้งทั่วไปแบบอำนาจนิติบัญญัติ

 

การเลือกตั้งจะมีในขั้นตอนสุดท้าย เมื่อมีการเลือกตั้ง คณะกรรมการตุลาการ ผู้ใช้อำนาจสูงสุดด้านตุลาการ โดย คณะผู้เลือกตั้ง (Electoral Body) ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาศาลต่างๆ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ มิใช่โดยการเลือกตั้งทั่วไปโดยประชาชน

 

เพราะประชาชนก็มีสิทธิ์เท่าเทียมกันอยู่แล้ว ที่จะเข้าสู่อำนาจตุลาการได้ ตั้งแต่เบื้องต้น

 

ขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ทำให้เห็นว่า การเข้าสู่อำนาจตุลาการ เป็นเหมือนบันได 10 ขั้น ที่ผู้ใช้อำนาจตุลาการจะต้องก้าวไปตามลำดับจนถึงการเป็นคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.)

 

ไม่เหมือนการก้าวเข้าสู่อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งปัจจุบัน ประชาชนทุกคนที่เข้าหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมายเลือกตั้ง จะเป็นคณะเลือกตั้ง (Electoral Body) โดยตรง สามารถเลือกตั้ง สส. และ สว. ได้เลย สส. และ สว. ก็ปฏิบัติหน้าที่แทนปวงชนชาวไทย ทำหน้าที่นิติบัญญัติได้เลย นับเป็นบันไดขั้นเดียว โดยไม่ต้อง เข้มงวดเหมือนผู้ใช้อำนาจตุลาการ

 

ดังนั้น จึงมีการก้าวบันไดขั้นเดียวได้โดยง่าย เช่น โดยการซื้อเสียงในเขตเลือกตั้ง การแจกของ การให้สัญญาต่างๆ

 

จาก พ.ศ.2475 ถึง พ.ศ.2487 ยังมีการทำเช่นนี้น้อย ดังนั้นผู้สมัครที่มีอุดมการณ์ มีคุณธรรม มีชื่อเสียงในทางดีงาม จึงได้รับเลือกตั้งให้มาเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติกันมากมาย

 

หลังจาก พ.ศ. 2487 เมื่อมีระบบพรรคการเมืองเข้ามาเป็นรูปร่างในประเทศไทย จึงเริ่มมีการคอร์รัปชั่นมากขึ้น ในการเข้าสู่อำนาจนิติบัญญัติโดยการซื้อเสียง โดยการใช้อิทธิพล สส.ของพรรคที่มีอุดมการณ์ก็น้อยลง

 

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะ สส. และ สว. มิได้มุ่งหวังที่จะมารับใช้ประชาชนในด้านนิติบัญญัติแต่อย่างเดียว แต่มุ่งหวังจะใช้อำนาจนิติบัญญัติเป็นบันไดก้าวเข้าไปเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร คือต้องการไปเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี และตำแหน่งต่างๆ ในอำนาจบริหาร ทั้งๆ ที่ การเป็นผู้ออกกฎหมาย ก็เป็นอำนาจที่ล้นฟ้าอยู่แล้ว สามารถออกพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีได้ ออก พ.ร.บ.กำหนดขอบเขตของผู้ใช้อำนาจตุลาการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ และยังมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ที่จะควบคุม และกำกับดูแลฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) ได้อีก

 

ทำให้อำนาจทั้งสาม ไม่มีการถ่วงดุลกัน น้ำหนักมาอยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งสามารถเป็นอะไรได้ทุกอย่าง

 

เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีอำนาจมากมาย รัฐสภาก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะตนคุมเสียงข้างมาก

 

เป็นรัฐมนตรี ก็มีอำนาจมากมาย จะอนุญาตให้ตั้งธนาคาร บริษัทประกันภัย โควตาข้าว โควตามัน ฯลฯ จะอนุญาตให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมก็ได้ จะอนุญาตให้ตั้งสายการบินก็ได้ สร้างท่าเรือก็ได้

 

นอกเหนือจากการจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินเป็นหมื่นเป็น แสนล้านบาท

 

นอกจากนั้น ยังใช้โอกาสนี้เป็นโอกาสฟื้นทุนที่ลงไปในการสมัคร สส., สว. ในการรวบรวม สส., สว. ให้เข้ามาอยู่ในพรรคการเมืองของตน ซึ่งวงการเมืองเรียกว่า ระบบดูด สส.

 

จนไม่ต้องประกอบอาชีพอื่น แต่มีอาชีพเป็น "นักการเมือง" อันเป็นอาชีพที่อารยชน ไม่อยากเข้าใกล้ เมื่อมีการดูดกันไปมา ก็ต้องมีรัฐบาลที่ขาดเสถียรภาพ ล้มลุกคลุกคลาน มีการคอร์รัปชั่นเรียกเงินในการออกใบอนุญาตกันเป็นจำนวนมาก เรียกเปอร์เซ็นต์ในการจัดซื้อจัดจ้างกันเป็นจำนวนมากเช่นกัน เพื่อเอาไปเป็นทุน ในการ "เล่นการเมือง" จนเรียกกันว่า "ทุนสามานย์"

 

และอาชีพการเมือง จึงเป็นอาชีพที่น่ารังเกียจอาชีพหนึ่ง ที่หลายคนพยายามหลีกห่าง

 

รัฐบาลจึงล้มลุกคลุกคลาน จาก พ.ศ.2475 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 86 ปี มีรัฐบาลมาแล้วถึง 61 รัฐบาล และระหว่างปี พ.ศ.2518 จนถึง พ.ศ.2557 เพียง 29 ปี มีรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองแล้วถึง 27 รัฐบาล แทบจะปีละ 1 ชุด

 

เมื่อรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ มีการโกงกินกันมาก มีการแตกแยกของประชาชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองแตกต่างกัน จนเกือบจะเกิดสงครามกลางเมือง (Civil War) หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายก็คือในตอนต้นปี 2557 จึงทำให้ทหารต้องลุกขึ้นมาทำการรัฐประหาร เพื่อระงับเหตุการณ์ดังกล่าว

 

ทหาร ก็มิได้เข้ามาครั้งเดียว แต่เข้ามาหลายครั้ง เช่นในปี พ.ศ.2490 มีจอมพลผิน ชุณหะวัณ ปีพ.ศ. 2491 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ปี พ.ศ.2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สืบต่อมาโดยจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อปี 2506 จนถึงปี พ.ศ.2516

 

รัฐบาลทหาร อยู่ได้นานหน่อย มีเสถียรภาพ บ้านเมืองจะเจริญก้าวหน้า และโครงการใหญ่ๆ จะแล้วเสร็จ ก็สมัยรัฐบาลที่มีเสถียรภาพนี่แหละ

 

แต่ประชาชนก็ไม่ชอบรัฐบาลทหาร เพราะมิได้มาจากระบอบประชาธิปไตย แต่เข้ามาในโอกาสที่ระบอบประชาธิปไตยล้มเหลว (เพราะเราให้ สส. ผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติมาเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร (รัฐบาล) ด้วย)

 

สรุปแล้ว จะเห็นได้ว่า ในรอบ 86 ปี ที่ผ่านมาจากปี พ.ศ. 2475 จนถึงปัจุบัน 2561 เป็นเวลา 86 ปี

 

เรามีรัฐบาลทหาร 36 รัฐบาล เป็นเวลา 59 ปี

 

เรามีรัฐบาลที่มาจากฝ่ายนิติบัญญัติ 25 รัฐบาล เป็นเวลา 27 ปี

 

รวมมีรัฐบาล 61 รัฐบาล มีการปฏิวัติรัฐประหาร 13 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ

 

จึงเรียกได้ว่าระบอบประชาธิปไตยของเราล้มเหลว เปิดโอกาสให้มีการคอร์รัปชั่นโดยนักการเมือง โดยการซื้อเสียง ซื้อ สส. หาเงินไว้เลือกตั้งใหม่ หาเงินไว้ดูด สส. มา เพื่อเป็นฐานตั้งรัฐบาล

 

เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติจำนวนมาก เป็นบ่อเกิดแห่งการทุจริตเสียเอง แล้วยังมาใช้อำนาจบริหารเสียเอง เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเหลืออะไร นอกจากจะต้องทำตามนักการเมือง หาเงินให้เข้าพรรคการเมืองตามที่ถูกบังคับหรือขอร้องบ้าง เห็นนาย (นักการเมือง) กินคำใหญ่ ตนเองก็ต้องกินคำกลางบ้าง, คำเล็กบ้าง หาเงินป้อนนักการเมืองเพื่อให้ได้ตำแหน่งบ้าง

 

มีใครปฏิเสธบ้างไหม ว่าที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ไม่เป็นความจริง

 

แล้วเราจะปล่อยให้ ผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ (สส. และ สว.) มาใช้อำนาจบริหาร ต่อไปหรือ

 

แล้วเราจะให้ วงจรอุบาทว์ (Vicious Circle) เกิดต่อไปหรือ โดยทหารทำการลุกขึ้นมายึดอำนาจเป็นครั้งที่ 14, 15 และ .......

 

แล้วเราจะไม่หา นวัตกรรมทางการเมือง (Political Innovation) มาแก้ปัญหานี้ หรือโดยค้นหาทางเข้าสู่อำนาจบริหาร ด้วยวิธีอื่น มิใช่ด้วยวิธีปล่อยให้ สส., สว. มาใช้อำนาจบริหาร แบบที่เป็นมาแล้วถึง 86 ปี

 

จนประเทศไทย ยังไม่พ้นจากความยากจน ประชาชนยังมีรายได้ต่ำ ยังมีความเป็นอยู่ที่ไม่ดี

 

จนประเทศไทย ล้าหลังต่อประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ หรือประเทศที่พังทลายไปเพราะสงคราม เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ โครเอเชีย ลิทัวเนีย เอสโตเนีย เป็นต้น

 

หรือประเทศไทย จะปล่อยให้ CLMV ก้าวหน้าล่วงไป โดยเรายังกอดอยู่กับระบอบประชาธิปไตยอันล้มเหลว ต่อไป

 

โอกาสหน้า ท่านจะได้รับฟังข้อเสนอ ในการแก้ไขปัญหา โดยการมีวิธีการเข้าสู่อำนาจบริหาร แบบใหม่ ซึ่งมิใช่โดย สส., สว. ผู้มาจากอำนาจนิติบัญญัติ และมิใช่ทหาร ผู้มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร อันน่าจะทำให้มะเร็งร้ายของประเทศไทย หรือคอร์รัปชั่น ลดน้อยลง อย่างรวดเร็ว และหายไป จนติดอันดับเป็นอารยประเทศ ในที่สุด

 

 

 

 

 

 

 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw