ประเด็นร้อน

สังคายนาปราบโกง

โดย ACT โพสเมื่อ May 02,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยโพสต์ - -

 

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 1 พฤษภาคม 2561 ให้นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ย้ายไปดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วให้นายสรวิศ ธานีโต ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ย้ายมาดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมปศุสัตว์ จากปัญหาการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และผลการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณประจำปี พ.ศ.2560 ประเภทเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง 76 ศูนย์ ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบความผิดปกติในการเบิกจ่ายงบประมาณถึง 67 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นสัญญาณอันตรายสะท้อนถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในแวดวงข้าราชการ ที่น่าจะได้เวลาต้องสังคายนากันครั้งใหญ่ในทุกกระทรวง ทบวง กรม เพื่อไม่ให้วิถีการโกงกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เป็นมะเร็งร้ายกัดกินประเทศชาติจนเสียหายไปมากกว่านี้

 

ขนาดการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเกี่ยว ข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ยังกลายเป็นช่องทางให้ข้าราชการบางกลุ่ม บางพวก นำไปหาผลประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง กระทั่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบข้าราชการที่เป็นชุดคณะกรรมการจัดซื้อวัคซีนในปี 2559 เบื้องต้นจำนวน 5 คน ทุจริตการจัดซื้อวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไม่ได้ให้การรับรอง จำนวน 1 ล้านโดส แบบไร้สำนึก ไร้จริยธรรม จนสร้างความเสียหายกับทางหน่วยงานราชการเป็นจำนวนมาก และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน

 

เช่นเดียวกับการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณประจำปี พ.ศ.2560 ประเภทเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ครอบ ครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง 76 ศูนย์ ที่พันโทกรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ออกมาเปิดเผยผลสรุปการตรวจสอบพบความผิดปกติในการเบิกจ่ายงบประมาณ จำนวน 67 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น เชียงใหม่ บึงกาฬ หนองคาย สุราษฎร์ธานี สระบุรี อยุธยา ตราด อุดรธานี น่าน กระบี่ ตรัง สระแก้ว ร้อยเอ็ด พัทลุง ชุมพร ชัยภูมิ สุรินทร์ พิษณุโลก มหาสารคาม ลำพูน นครราชสีมา อำนาจเจริญ อ่างทอง ยโสธร ศรีสะเกษ  อุบลราชธานี นครพนม กาฬสินธุ์ ยะลา สมุทรสงคราม พิจิตร ราชบุรี เลย เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง บุรีรัมย์ มุกดาหาร สกลนคร หนองบัวลำภู กำแพงเพชร ชัยนาท นครนายก นครปฐม ปทุมธานี เพชรบูรณ์ ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สุพรรณบุรี อุทัยธานี จันทบุรี ชลบุรี ระยอง กาญจนบุรี เพชรบุรี ตาก ประจวบคีรีขันธ์ นราธิวาส ปัตตานี พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล และสงขลา รวมวงเงิน 129,507,000 บาท

 

โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าเกี่ยวข้อง จำนวน 189 ราย ซึ่งมีพฤติการณ์คือ การกระทำผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสารเบิกจ่าย, ลงลายมือชื่อปลอม, มีการแก้ไขจำนวนเงิน, ให้ลงลายมือรับเงินล่วงหน้า, มีการเวียนนำรายชื่อมาเบิกเงิน, การยักยอกเงินสงเคราะห์ โดยผู้มีรายชื่อรับเงินไม่ได้รับเงินหรือได้รับไม่ครบถ้วน, ผู้มีรายชื่อรับเงินอุดหนุนสงเคราะห์หลายรายขาดคุณสมบัติ

 

เรียกว่าเป็นมหกรรมการโกงแห่งชาติ เนื่องจากเหลือเพียง 9 จังหวัด ก็ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย ซึ่ง 9 จังหวัดที่ไม่พบการทุจริต ทั้งจังหวัดสิงห์บุรี ปราจีนบุรี นครศรีธรรมราช นนทบุรี ฉะเชิงเทรา แพร่ นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ และสุโขทัย ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มี เพราะเลขาธิการคณะกรรมการป้อง กันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ บอกเจ้าหน้าที่ที่ลงไปในพื้นที่ 2 ครั้ง ไม่พบเอกสารหลักฐาน หรือพยานบุคคลที่นำไปสู่การพิสูจน์เท่านั้น หากลงไปตรวจสอบอย่างละเอียดแบบเคาะประตูบ้านทุกอำเภอ ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ก็อาจจะพบข้อมูล พบรายละเอียดอะไรเพิ่มขึ้นมากกว่านี้

 

ในงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ภายใต้แนวคิด "Zero Tolerance คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต" ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เคยแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำทางการเมืองร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนที่มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างต่อเนื่อง และปลุกกระแสสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต มุ่งยกระดับค่าดัชนีการรับการทุจริต

 

ตอนหนึ่งพลเอกประยุทธ์ระบุว่า "การแก้ไขป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมในการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว และร่วมกันผลักดันทำให้เกิดกลไกและมาตรการต่างๆ สามารถนำไปใช้ได้อย่างจริงจังและเกิดผลสัมฤทธิ์ รัฐบาลได้ร่างระเบียบการนำยุทธศาสตร์และการ พัฒนาในภาครัฐดำเนินการป้องกันไปในทิศทางเดียวกัน ควบ คู่กับการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทราบถึงพิษภัยของการทุจริต เพื่อให้การต่อต้านการทุจริตเป็นวัฒนธรรมของสังคมไทย...ในส่วนของภาครัฐและเอกชนต้องมีกระบวนการตรวจสอบการทุจริตให้เกิดความโปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้เกิดขึ้นในสังคม อันจะสามารถลดและป้องกันปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นอีก"

 

นับตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2560 จนถึงวันนี้ เรามั่น ใจว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาการทุจริต ตามที่ประกาศเจตนารมณ์ในวันต่อต้านคอร์รัปชันอย่างต่อเนื่อง จนนำมาซึ่งการตรวจสอบพบการทุจริตในโครงการต่างๆ รวมทั้งพบเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องมากมาย ดังนั้นเพื่อให้การแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและต่อเนื่อง รัฐบาลในฐานะผู้บริหารราชการแผ่นดิน น่าจะเพิ่มนโยบายความเข้มงวดลงไปในทุกกระทรวง ทบวง กรม ให้ตรวจสอบโครงการต่างๆ ให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม หากพบข้อมูล พบเบาะแสความไม่ชอบมาพากลอันเกี่ยวเนื่องกับการทุจริต ก็ควรต้องดำเนินการสอบสวนเอาผิดอย่างจริงจังให้ประเทศไทยใสสะอาดอย่างแท้จริง

 

 

 

 

 

 

 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw