ประเด็นร้อน

ปปช.ฟันคดีโกงจัดซื้อ‘อัลฟ่า6’ใช้เป็นโมเดลสอบลึกทุจริตไม้ล้างป่าช้าจีที200

โดย ACT โพสเมื่อ May 22,2018

- - ขอบคุณข้อมูลจาก แนวหน้า - -

 

21 พ.ค. 61 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีคณะกรรมการป.ป.ช.ชี้มูลความผิดอดีตข้าราชการระดับ 8-9 ในจ.พิษณุโลกกรณีจัดซื้อเครื่องตรวจสารเสพติดอัลฟ่า 6 (Alpha6) ว่า ที่มาที่ไปของคดีดังกล่าว ศาลอังกฤษได้พิพากษาเอกชนที่ผลิตเครื่องมือดังตรวจค้นวัตถุระเบิดจีที 200 (GT200) และเครื่องตรวจสารเสพติดอัลฟ่า 6 ว่า เครื่องมือพวกนี้ไม่มีประสิทธิภาพมาตรวจสอบ และมีหน่วยราชการไทยมาจัดซื้อ


ต่อมาเมื่อเดือน ก.พ. 2553 คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องมือเหล่านี้ พบว่า ไม่มีประสิทธิภาพตามคุณลักษณะ ส่งผลให้มีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งแต่ปี 2555 เบื้องต้นพบว่า หน่วยงานราชการที่จัดซื้อเครื่องมือเหล่านี้ ซื้อมาราคาเครื่องละ 4 แสนบาท-1.8 ล้านบาท ทำให้มีมูลเหตุกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่รัฐทุจริตหรือไม่


นายวรวิทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนมีทั้งหมด 12 คดี และคดีแรกที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด 1 คดี คือที่ จ.พิษณุโลก โดยช่วงเดือน ก.พ. 2551 กระทรวงมหาดไทย มีนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดทั่วประเทศภายใน 90 วัน ตั้งแต่ มี.ค.-พ.ค. 2551 เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อแก้ไข โดยผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้ว่าที่ร.ต.สุรศักดิ์ วงศาโรจน์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดพิษณุโลก (ตำแหน่งขณะนั้น) รับผิดชอบในการจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าว เพื่อตรวจพื้นที่ อ.วัดโบสถ์ อ.วังทอง และเส้นทางไป จ.พิษณุโลก ที่มีข่าวขนยาเสพติดจำนวนมาก โดยเรื่องนี้เป็นนโยบายเร่งด่วน จึงขอรับการจัดสรรงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พิษณุโลก วงเงิน 1.65 ล้านบาท


เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ขั้นตอนดำเนินการ ว่าที่ ร.ต.สุรศักดิ์ นำเอกสารใบเสนอราคาบริษัท เอ็ม เบส พลัส จำกัด และบริษัท เอ็ม-แลนดาร์ซ จำกัด ไปให้คณะกรรมการพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ โดยคณะกรรมการฯชุดนี้ สั่งการให้ซื้อเครื่องดังกล่าวกับบริษัท เอ็ม-แลนดาร์ซ จำกัด


อย่างไรก็ดีปรากฏว่าเอกสารของบริษัท เอ็ม เบส พลัส จำกัด เป็นเอกสารปลอม เนื่องจากบริษัทนี้ประกอบกิจการจำหน่ายเวชภัณฑ์การแพทย์ ไม่เคยจำหน่ายเครื่องตรวจค้นยาเสพติด แต่คณะกรรมการฯชุดนี้กลับสืบราคาจากบริษัทดังกล่าว ส่งผลให้บริษัท เอ็ม-แลนดาร์ซ จำกัด เป็นผู้ชนะ ทั้งที่ตามข้อเท็จจริง ไม่มีการสืบราคา หรือต่อรองราคาเลย การดำเนินการดังกล่าวจึงถือเป็นการกระทำโดยมิชอบ


นอกจากนี้ ว่าที่ร.ต.สุรศักดิ์ ยังลงนามสัญญาซื้อขาย โดยอ้างว่าเป็นการปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดฯ โดยไม่มีอำนาจเพราะผู้ว่าราชการจังหวัดฯไม่ได้มอบหมายให้จัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ขณะเดียวกันว่าที่ ร.ต.สุรศักดิ์ ยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตรวจรับที่มีทั้งหมด 3 คน แต่วันตรวจรับกลับมาตรวจเพียงคนเดียว มีการทดสอบเครื่องมือดังกล่าวด้วยยาบ้า แค่ชนิดเดียวทั้งที่ตามจริงต้องทดสอบถึง 6 ตัวอย่าง และกรรมการตรวจรับอีก 2 คน ไม่ทราบเรื่อง และมาเซ็นชื่อร่วมตรวจทีหลังด้วย


คณะกรรมการ ป.ป.ช. วินิจฉัยแล้วเห็นว่า การกระทำของว่าที่ ร.ต.สุรศักดิ์ วงศาโรจน์ นายวีระกิตติ์ อินทรประสิทธิ์ ประธานกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) และ (4) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และชี้มูลนายทรงศักดิ์ ภูมิผล กรรมการตรวจรับพัสดุ มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) และ (4) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง


อย่างไรก็ดีได้กันให้นางหทัยกาญจน์ แปงแก้ว กรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ และนายขวัญชัย คำชุ่ม กรรมการตรวจรับพัสดุ เป็นพยาน โดยไม่ดำเนินคดี และให้ข้อกล่าวหาตกไป ส่วนราย น.ส.อุบล นุชเพชร เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลไม่ได้ร่วมกระทำความผิดแต่อย่างใด


ส่วนความคืบหน้าในการไต่สวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 (GT200) และอัลฟ่า 6 ที่ยังเหลืออีกหลายคดี นายวรวิทย์ กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีแรกที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการเสร็จ โดยใช้พยานผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ และอาจต้องมีพยานร่วมกัน เรียกว่า นำคดีนี้เป็นแบบในการใช้กระบวนการไต่สวนเรื่องที่เหลืออีก 11 เรื่อง การทำงานเรื่องที่เหลือจึงใช้พยานหลักฐานในคดีนี้ไปเชื่อมโยงกันได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางวิชาการ หรือคำให้การของผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ด้วย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้)พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช.ได้ลงนามส่งสำนวนฟ้องคดีดังกล่าวไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ อสส.จะพิจารณาเนื้อหา พยานหลักฐานที่ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลไป หากเห็นพ้อง อสส.จะส่งฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ แต่หากเห็นว่ายังมีข้อไม่สมบูรณ์จะต้องตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อพิจารณาให้เสร็จภายใน 90 วัน หากไม่เห็นฟ้อง ทาง ป.ป.ช.จะต้องส่งฟ้องเองภายใน 90 วัน และจะนำประเด็นการวินิฉัยกรณีทุจริตจัดซื้อ อัลฟ่า ซิกส์ ไปใช้เป็นแนวทางตรวจสอบขยายผลไปยังสำนวนคดีอื่นที่ยังค้างอยู่ เช่น กรณี จีที 200 ที่มีความใกล้เคียงกัน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ ถูกร้องเรียนว่าการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดแบบพกพา เป็นราคาที่แพงเกินกว่าที่ควรจะเป็นและไม่มีประสิทธิภาพในการใช้งาน เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย ซึ่งงบประมาณที่จัดซื้อไปรวมกันทั้ง จีที200 และอัลฟ่า6 มูลค่า 1,134 ล้านบาท และปัจจุบันไม่ได้มีการนำมาใช้งานจริง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

#ร่วมเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw